xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลโคราชเฮ! ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีประปา 3,000 ล้าน ให้ใช้น้ำ “เขื่อนลำแชะ” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตุลาการศาลปกครองนครราชสีมาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีการก่อสร้างระบบประปาเทศบาลนครนครราชสีมา มูลค่า 3,060 ล้านบาท โดยดึงน้ำมาจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง วันนี้ ( 29 เม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เทศบาลนครโคราชเฮ! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการระบบประปา มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท หลังชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันฟ้องยืดเยื้อมาร่วม 6 ปี ระบุให้ใช้น้ำจากเขื่อนลำแชะได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขของกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินสร้างเขื่อน คำนึงถึงประชาชนและอุตฯ ในพื้นที่ 3 อำเภอใกล้เคียงก่อน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองนครราชสีมา ถ.มิตรภาพ (ทางเลี่ยงเมืองจอหอ) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตุลาการศาลปกครองนครราชสีมา ประกอบด้วย นางสายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีผู้พิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา หัวหน้าคณะ, นายพงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ และ นายวันชัย กนกอังกูร ผู้พิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีการก่อสร้างระบบประปาเทศบาลนครนครราชสีมา โดยดึงน้ำมาจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1012/2553 หมายเลขแดงที่อ.10/2558

โดยได้รับความสนใจจากประชาชนและนักการเมืองเดินทางมาฟังคำพิพากษาจำนวนมาก เช่น นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ขณะกลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบโครงการจาก อ.ครบุรี นำโดย นายธีรพล รัตนประยูร ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ส่วนทางด้านเทศบาลนครนครราชสีมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ส่งนายบำรุง เจริญพจน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมีนายธีรพล รัตนประยูร ที่ 1 กับพวกรวม 91 รายเป็นผู้ฟ้องคดี ฟ้องเทศบาลนครนครราชสีมาที่ 1 กรมชลประทานที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของเทศบาลนครนครราชสีมา โดยวิธีการนำน้ำจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มาผลิตน้ำประปาโดยได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ใช้น้ำได้ปีละประมาณ 30-48 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในลำน้ำแชะและลำน้ำมูล และทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของผู้ฟ้องคดี และชาวครบุรี

อีกทั้งโครงการนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปีพุทธศักราช 2550 โดยไม่ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนชาวครบุรี ไม่ได้ศึกษาและรายงานผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งก่อนดำเนินโครงการฯ ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ

จึงขอให้ศาลพิพากษายกเลิกโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในส่วนของการก่อสร้างระบบประปาและนำน้ำจากเขื่อนลำแชะมาผลิตน้ำประปา และผู้ฟ้องคดีมีคำขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระงับการดำเนินการก่อสร้างระบบประปาตามโครงการดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระงับการก่อสร้างระบบประปา ที่อยู่ระหว่างดำเนินการไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระงับการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเฉพาะส่วนของการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบอ่างเก็บน้ำลำแชะและการวางท่อน้ำดิบที่ต่อจากสถานีสูบน้ำดิบอ่างเก็บน้ำลำแชะไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนการดำเนินการก่อสร้างในส่วนอื่นๆ ตามโครงการที่พิพาทให้ดำเนินการก่อสร้างได้ต่อไป

ศาลปกครองนครราชสีมามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2553 ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นำน้ำจากเขื่อนลำแชะมาผลิตน้ำประปา เว้นแต่ในกรณีที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือเพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ ภายหลังจากที่ได้จัดสรรหรือสำรองน้ำในเขื่อนไว้ให้ใช้ประโยชน์ในการทำนา การเพาะปลูก การอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมของชาวอำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัย และอำเภอครบุรีแล้ว สำหรับคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวฯ ให้ยกเลิก

ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างระบบประปาและขยายกำลังผลิตน้ำประปา ไม่ใช่โครงการเขื่อนกักเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำหรือการชลประทาน หรือเป็นประเภทโครงการหรือกิจการตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535 การดำเนินโครงการจึงไม่ต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงไม่จำเป็นต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการนั้น เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้สั่งให้หน่วยงานของรัฐรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการโครงการ ผู้ฟ้องคดีจะมาโต้แย้งในชั้นพิจารณาคดีไม่ได้

ส่วนปัญหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินโครงการนอกเขตพื้นที่ขัดต่อมาตรา 57 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 นั้น เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีสิทธิดำเนินโครงการดังกล่าวได้ตามมาตรา 57 ทวิ (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารและการวางท่อส่งน้ำแล้ว

ส่วนปัญหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินโครงการขัดต่อวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย และ อ.ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2526 หรือไม่นั้น เห็นว่าวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างการชลประทานโครงการมูลบน ซึ่งประกอบด้วยเขื่อนมูลบนและเขื่อนลำแชะ นอกเหนือจากเพื่อให้นำน้ำจากเขื่อนทั้งสองแห่งไปช่วยเหลือการทำและเพาะปลูกในท้องที่ อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย และ อ.ครบุรี ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการส่งน้ำบางส่วนไปใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคและการอุตสาหกรรมด้วย

ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่และได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขออนุญาตใช้น้ำในปริมาณวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร หรือปีละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำมาผลิตน้ำประปาใช้อุปโภคบริโภค จึงเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่จะอนุญาตได้ ซึ่งอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างการชลประทานโครงการมูลบนตามที่ระบุในหมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้น้ำต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักของการก่อสร้างชลประทานโครงการมูลบน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินและไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย และ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ต้องเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำขอใช้น้ำดิบในปริมาณวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร หรือปีละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจัดทำน้ำประปาตามโครงการดังกล่าว อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็อาจจะอนุญาตให้ใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำแชะได้ แต่ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำแชะจะต้องเหลือเพียงพอที่จะจัดสรรหรือสำรองไว้ให้ใช้ประโยชน์ในการทำนา การเพาะปลูก การอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมของประชาชนในพื้นที่ อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย และ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ด้วย

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 วางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำแชะเพื่อนำไปผลิตน้ำประปาจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง

อนึ่ง โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ที่เป็นการก่อสร้างระบบน้ำประปา โดยนำน้ำดิบมาจากอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำประปา ในอัตราวันละกว่า 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าโครงการ 3,060 ล้านบาท ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 และให้ระงับการดำเนินการโครงการ






กำลังโหลดความคิดเห็น