xs
xsm
sm
md
lg

ฮือต้านอธิการบดี มรช.เร่งออกนอกระบบ เดินเรื่องเดือนเดียวจ่อกู้เกือบหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย รุมต้านอธิการบดี-ฝ่ายบริหาร รวบรัดนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ วิจารณ์ขรมเดินเรื่องเดือนเดียวจ่อกู้เงินลงทุนเกือบหมื่นล้าน ร่วมเอกชนทำห้างสรรพสินค้า-หอพัก

วันนี้ (29 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้นำป้ายต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ออกนอกระบบ ไปติดตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ โดยเฉพาะที่อาคารส่งเสริมวิชาการ ใกล้ตึกอธิการบดี ก่อนที่ ผศ.ดร.ทศพล อารีนิจ อธิการบดี มรช.จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมังราย วันที่ 8 พ.ค.นี้ ที่หอประชุมใหญ่ มรช. ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวหมายถึงการนำ มรช.ออกนอกระบบ โดยเปลี่ยนจาก มรช.ไปเป็นมหาวิทยาลัยมังราย

วันเดียวกัน อาจารย์ มรช.จำนวนมากแต่งกายด้วยชุดสีดำเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้าน และช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ผศ.ดร.วัฒนา ยืนยง รองอธิการบดี มรช. พร้อมด้วยอาจารย์และพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของฝ่ายบริหาร ได้จัดประชุมกันที่ห้องประชุมอาคารส่งเสริมวิชาการ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่ออธิการบดีด้วย

โดยระบุหัวเรื่องว่า “คัดค้านการนำ มรช.ออกนอกระบบในขณะนี้ เพราะยังไม่มีความพร้อม” และมีเนื้อหาว่าการที่อธิการบดีกำลังดำเนินการเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างรีบเร่งเกินความจำเป็น และมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมังรายขึ้นมาแล้วนั้น ในฐานะข้าราชการ พนักงาน มรช. รวมถึงประชาชนชาวเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงตามชื่อที่ส่งมา ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวและขอคัดค้าน

เนื่องจากทุกฝ่ายยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาก่อน และการออกนอกระบบ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องแบกรับภาระทุกด้านสูงมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่มีแหล่งรายได้อื่นเลย เงินทุนก็ไม่เพียงพอ อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนกับนักศึกษา ซึ่งจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของประชาชนได้ ดังนั้นจึงขอให้ยุติการดำเนินการโดยทันที และเตรียมความพร้อมอีกประมาณ 5-10 ปีเป็นอย่างน้อย

ผศ.รศ.วัฒนากล่าวว่า ที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เป็นการคัดค้านการนำ มรช.ออกนอกระบบ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำออกนอกระบบอย่างรวดเร็ว และต้องการให้มีการนำข้อมูลต่างๆ มาปรึกษาหารือกันภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ก่อนดำเนินการ เบื้องต้นจะขอให้ทางฝ่ายบริหารได้ชะลอการดำเนินการไปก่อน

ด้าน ผศ.ปรีดา จันทร์แจ่มศรี กรรมการสภามหาวิทยาลัยฝ่ายบริหาร และประธานสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มรช. กล่าวว่า มีผู้บริหารระดับรองอธิการบดี ลงชื่อคัดค้านในหนังสือที่ยื่นครั้งนี้ 2 คน และมีผู้บริหารเฉพาะที่มีตำแหน่งบริหารร่วมลงชื่อด้วย 31 คน ที่เหลือเป็นตำแหน่งวิชาการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งหมดไม่เห็นด้วยหากจะต้องเร่งรีบดำเนินการ และหากว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้ยังไม่ได้ผลก็จะมีแนวทางคัดค้านด้านอื่นต่อไปอีก ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการนำ มรช.ออกนอกระบบ แต่ต้องการให้มีการหารือทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ และเตรียมความพร้อมให้พร้อมก่อน

ต่อมา ผศ.ดร.ทศพลได้เดินทางไปรับหนังสือจากกลุ่มผู้บริหารและอาจารย์ที่คัดค้าน และระบุเพียงว่าจะนำข้อเสนอไปหารือ และจะไม่นำรายชื่อที่แนบประกอบการยื่นหนังสือไปด้วย เพราะต่างเป็นพี่น้องกันทั้งนั้น เนื้อหาที่ระบุในหนังสือก็จะรีบนำไปพิจารณา แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่ใช่อยากทำสิ่งใดก็ทำ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และยังมีขั้นตอนดำเนินการอีกยาวนาน เมื่อมีความห่วงใยกันเข้ามาก็ถือว่ามีความสำคัญ และการทอดเวลาออกไปจึงเป็นความจำเป็น ส่วนการประชุมชี้แจงในวันที่ 8 พ.ค.จะมีหรือไม่ยังไม่อาจตอบได้ เพราะต้องพิจารณาหนังสือที่ได้รับจากคณาจารย์ในครั้งนี้ก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า แผนการนำ มรช.ออกนอกระบบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่งจะมีการประชุมชี้แจงให้ข้าราชการ สภาคณาจารย์เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา และชี้แจงต่อพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายผู้สอนและสนับสนุนในวันที่ 17 เม.ย. ก่อนจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างระเบียบและข้อบังคับ มรช.ครั้งที่ 1 และประชุมชี้แจงผู้นำนักศึกษาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. และนำเสนอหลักการต่อสภามหวิทยาลัย ในวันที่ 24 เม.ย. ก่อนจะมีการกำหนดทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 8 พ.ค.

คณาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยแจ้งว่า หากผ่านการทำประชาพิจารณ์ก็จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมังราย ต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างระเบียบและข้อบังคับ มรช.ครั้งที่ 2 วันที่ 9 พ.ค. และเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภามหาวิทยาลัย วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งหากสำเร็จลุล่วงก็จะทำให้ มรช.ออกนอกระบบภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เร็วเกินกว่าบุคลากรภายในจะรับได้

นอกจากนี้ บุคลากรภายในยังทราบว่าปัจจุบันฝ่ายบริหารได้เสนอโครงการเพื่อบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และสภามหาวิทยาลัยแล้ว โดยให้ข้อมูลกับบุคลากรว่า หากออกนอกระบบจะสามารถกู้เงินมาลงทุนภายในมหาวิทยาลัยได้สูงถึง 8,900 ล้านบาท เพื่อร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาโครงการ ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หอพักนักศึกษา 5,000 ห้อง หอพักบุคลากร 300 ห้อง แต่หากเป็นมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจะไม่สามารถร่วมกับเอกชน หรือกู้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายปีด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น