xs
xsm
sm
md
lg

ทัพเรือเมินนโยบาย “ประยุทธ์” หลังเดินหน้าขอคืนพื้นที่ทำกินชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จดหมายทางราชการให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านกว่า 1,400 ชีวิตจาก 4 หมู่บ้าน รวม 139 ครัวเรือน ร้องระงมลั่นท้องทุ่ง หลังกองทัพเรือเดินหน้าขอคืนพื้นที่ พร้อมเตรียมขับไล่ราษฎรให้ออกจากที่ดินทำกินรวมกว่า 5 พันไร่ แย้งนโยบาย “คืนความสุขให้คนในชาติ” กรณีการจัดสรรที่ดินทำกินที่แถลงโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงค่ำคืนวันศุกร์ที่ 10 เม.ย.58 อย่างสิ้นเชิง


วันนี้ (28 เม.ย.) นางเกวลี วงศ์สุข อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49/1 ม.11 ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงความทุกข์ร้อนของชาวบ้านรวม 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ม.2, ม.10, ม.11 และ ม.12 ว่า ขณะนี้กองทัพเรือ และกองเรือลำน้ำ กำลังจะเข้ามาขอคืนที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยของชาวบ้าน จำนวน 139 ครัวเรือน รวมกว่า 1,400 คน ที่เคยอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่มานานนับตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยต่อไปหลังจากนี้

สำหรับที่ดินทั้งหมดซึ่งเป็นแนวตะเข็บรอยต่อระหว่าง จ.นครนายก และ จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่รวม 6 แปลง รวมกว่า 5 พันไร่ โดยทางกองทัพเรือ ได้อ้างว่า ได้เป็นผู้ซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเตรียมเสบียงอาหารในช่วงสงคราม และได้เข้ามาทำการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่จากชาวบ้านมาโดยตลอด จากนั้นจึงได้มีสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เข้ามาทำการบริหารจัดการเก็บค่าเช่าพื้นที่แทนในภายหลัง ทั้งที่ชาวบ้านได้ทำการบุกเบิกทำกินกันมาอย่างยาวนานกว่า 111 ปีแล้ว โดยที่ไม่ทราบว่าทางกองทัพเรือไปซื้อที่ดินไว้จากใครมาก่อน

ต่อมา เมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้มีหนังสือ ที่ กค 0311.07/ว.3534 ลงนามโดย นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งมาถึงชาวบ้านทุกครัวเรือนในพื้นที่เพื่อขอบอกเลิกสัญญาการเช่า และการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ ตามแผนของกองทัพเรือ ที่ต้องการจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งกองบังคับการหมวดเรือที่ 2 กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ และที่ตั้งสถานีวิทยุหาทิศ (DF)

ขณะพื้นที่ส่วนที่เหลือ (แปลงที่ 4) จะนำไปใช้ในการปลูกหญ้าเนเปียร์ขายทั้งหมด และทำเกษตรอินทรีย์อีกประมาณ 500 ไร่ แปลงที่ 5 จะใช้ทำศูนย์สื่อสารเป็นบางส่วน ส่วนแปลงที่ 6 จะใช้ทำศูนย์กองเรือ โดยของดเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป และขอให้ส่งมอบที่ดินคืนให้แก่กองทัพเรือ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 31 ธ.ค.57 เป็นต้นไป ซึ่งชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นจึงได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ามาขอคืนพื้นที่ดังกล่าวจากกกองทัพเรือ จึงอยากจะขอให้กองทัพเรือทำการผ่อนผัน หรือเข้ามาทำการจัดหาที่ดินทำกินทดแทนให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากหากถูกขับไล่ที่ดินทำกินไปแล้ว ชาวบ้านทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลานั้นจะไม่มีอาชีพทำกินเพราะไม่มีที่จะไป ประกอบกับยังมีภาระหนี้สิน หลายครอบครัวยังต้องมีภาระที่ต้องดูแลทั้งเด็ก คนชรา และคนพิการ

สำหรับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนี้ เพราะชาวบ้านได้ลงหลักปักฐานครอบครัวมานับตั้งแต่บรรพบุรุษ กว่า 4-5 ชั่วอายุคนแล้ว และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น จึงไม่มีที่ดินทำกินที่อื่นรองรับเลย ชาวบ้านทั้งหมดจึงไม่มีที่ไป ไม่มีอาชีพทำกินรองรับ และไม่มีช่องทางหารายได้ที่จะนำมาเลี้ยงครอบครัว จึงอยากจะขอให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล ช่วยเหลือชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากโครงการดังกล่าวของกองทัพเรืออยู่ในขณะนี้ด้วย โดยขอให้พวกเราอยู่กันเหมือนเดิม หรือให้ทางกองเรือลำน้ำ กองทัพเรือ จัดสรรที่อยู่ให้ใหม่ ส่วนที่ทำกินนั้นหากทางราชการต้องการใช้พื้นที่ก็ขอให้แบ่งไว้ให้ชาวบ้านได้ทำกินบ้าง

นางเกวลี กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการดังกล่าวของกองทัพเรือนั้น เป็นการกระทำที่ผิดไปจากแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เคยกล่าวไว้ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อเวลา 20.15 น.ของคืนวันศุกร์ที่ 10 เม.ย.58 ว่า “ในเรื่องที่ดินทำกินนั้น รัฐบาลได้ทยอยมอบเอกสารในการขอใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เราจัดทำอย่างเป็นระบบบูรณาการ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรการสำรวจการใช้สอยที่ดินทั่วประเทศ ทั้งจากดาวเทียม ภาพถ่ายดาวเทียมนะครับ แล้วในเรื่องของการเข้าไปสำรวจในพื้นที่ โดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลนะครับ เราก็จะรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ที่บุกรุกอยู่แล้วบ้าง ถ้าบุกรุกมาเป็นเวลานานแล้ว 10 ปี 20 ปีขึ้นไป มันก็เป็นป่าที่มันเสื่อมโทรมอยู่แล้วแต่มันผิดกฎหมาย

โดยทำยังไงให้เขาอยู่ที่นั่นแหละครับ แล้วจำกัดให้เขาทำให้ได้ตรงนั้น แล้วไม่ไปขายต่อ อันนี้เราก็ใช้มาตรา 44 ดูแล ที่เราทำไปนี่ ไม่งั้นมันไปไม่ได้ เราจะยกเขาไปที่ไหนอีกล่ะ แล้วตรงนั้นมันก็บุกรุกมานานแล้วด้วย มันก็ไม่ได้เป็นป่าอยู่แล้ว นี่ทำชัดเจน ไม่ได้ไปเลือกปฏิบัติกับใคร ขึ้นอยู่กับผู้ที่เขาสรุปขึ้นมานะ การโซนนิ่ง การข้อมูล ปัญหาเราคือ การทำข้อมูลนี่ยังไม่พร้อมเลยนะ เราก็ต้องค่อยๆ ทำไป มีหลายระยะนะครับ แต่ข้อสำคัญคือเราจะไม่ให้มีการซื้อขายสิทธิอีกต่อไปนะครับ

ที่ดินเหล่านั้นยังคงเป็นของรัฐอยู่ อันนี้ก็จะทำให้ทั่วประเทศนะครับ ก็มีระยะ 1 ระยะ 2 มีอยู่หลายจังหวัดนะครับ ที่ต้อง ต้องเอาคนส่วนที่ 1 ที่ต้องเอาออกมาทันทีโดยเร็ว และโดยความสมัครใจด้วยนะครับ จากป่าต้นน้ำนี่ต้องออกมาหาที่ให้เขาอยู่ ถ้าอยู่ต่อไปมันก็เป็นอย่างนี้ ชำรุดทรุดโทรมไปเรื่อย เดี๋ยวก็ต้องทำถนนหนทางทำไฟฟ้า ทำประปาเข้าไปแล้วก็เรียกร้องว่าทำไมไม่ได้สักที

นอกจากนั้น มันอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำไง ทำให้มันก็ขยายต่อไป มีลูกมีหลานป่าก็หมด เหมือนเดิม ต้องเอาออกมา มาอยู่ข้างนอกมาอยู่ในพื้นที่ที่ผมกำหนดไว้แล้วนี่ คณะกรรมการเขาเลือกมาแล้ว มีพื้นที่ที่บุกรุกอยู่แล้ว เดิมมีพื้นที่ที่ว่างเปล่า เป็นพื้นที่ราชพัสดุที่ของราชการ เราก็จะใช้มาตรา 44 นี่ ให้สามารถอยู่ได้ อยู่ได้แล้วทำกินนะ ห้ามขาย หรือขยายพื้นที่รุกล้ำไปเหมือนเดิมอีกไม่ได้ ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนะครับ เพื่อจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเป็นธรรม ยุติธรรม

ระยะที่ 1 พื้นที่เป้าหมาย 6 แห่งนะครับ 4 จังหวัด 53,697 ไร่ ระยะที่ 2 พื้นที่เป้าหมายอีก 8 แห่ง ใน 8 จังหวัดนะครับ อีก 51,929 ไร่ นะครับ จะเห็นว่าพื้นที่ก็มีไม่มากนักนะครับ ทั้งหมด 12 จังหวัดนี่ เราก็ต้องหาเอาคนที่ผิดกฎหมายนี่ แล้วไม่มีที่ทำกินจริงๆ นะ เข้ามาอยู่อาศัย คนที่เดือดร้อนยังไงเยอะแยะไป ถูกเขาหลอกบ้าง อะไรบ้าง บางทีก็มีคนไปหลอกมาว่าให้มาทำกินที่นี่ แล้วก็จ่ายเงินให้เขา เขาก็จะทำให้อะไรอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ทำไม่ได้ วันนี้ที่รัฐเข้าไปสำรวจนี่ส่วนใหญ่ที่ประชาชนเข้าไปไม่รู้เรื่องนะครับ มีคนไปชี้นำเขาบ้าง มันก็ผิดกฎหมายอยู่อย่างนี้ พอเราเข้าไปจัดการอะไร ก็กลายเป็นว่าเรารังแกประชาชน คนจน นี่ไงประเทศไทย ก็มีคนไปใช้ประโยชน์อย่างนี้เยอะแยะนะ”
ชาวบ้านกว่า 1,000  คน จะได้รับความเดือดร้อน
พื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านบุกเบิกมา
มีการปลูกข้าว ,เลี้ยงกุ้งและทำการเกษตร
กำลังโหลดความคิดเห็น