ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมทรัพยากรธรณีสั่งเฝ้าระวัง 10 รอยเลื่อนภาคเหนือ พร้อมให้ความรู้และทำความเข้าใจประชาชน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาล ระบุแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นเป็นประจำ
วันนี้ (27 เม.ย.) นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการสำนักงานธรณีเขต 1 (ลำปาง) รับผิดชอบพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ระบุว่า จากเหตุแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่ประเทศเนปาลไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณีได้สั่งการให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อความไม่ประมาท เนื่องจากภาคเหนือมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ 10 รอย จากทั้งหมด 14 รอยเลื่อนที่มีในประเทศไทย
สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือนั้น หากขนาดเล็กกว่า 3 แมกนิจูด เกิดขึ้นบ่อยเป็นประจำ ขณะที่ขนาดที่มากกว่า 3 แมกนิจูด ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนทำให้รู้สึกได้นั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือนต่อครั้ง โดยแผ่นดินไหวที่มีขนาดรุนแรงมากที่สุด คือ เหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
ด้านสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ภาคเหนือเกิดแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบหลายครั้ง โดยสถิติปี 2556 ได้แก่ ขนาด 3.4 ที่ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ขนาด 2.9 ที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ขนาด 3.1 ที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ขนาด 3.7 ที่ จ.พะเยา เมื่อวันที่ 1 ส.ค., ขนาด 2.4 ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ขนาด 4.1 ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.
ส่วนสถิติปี 2557 ได้แก่ ขนาด 6.3 ที่อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ขนาด 3.6 ที่ อ.นาน้อย จ.น่าน เมื่อวันที่ 24 พ.ค. และขนาด 3.6 ที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา เมื่อวันที่ 24 ต.ค.
ขณะที่สถิติปี 2558 ขนาด 2.8 ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ทั้งนี้เฉพาะเดือน เม.ย. เกิดแผ่นดินไหวขึ้นหลายครั้งในภาคเหนือ แต่เป็นขนาดเล็ก ไม่รู้สึก ล่าสุดขนาด 2.2 ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 นับเป็นแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่สุดในประเทศไทยที่ได้มีการบันทึกสถิติไว้ได้