xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์โรงพยาบาลสมเด็จฯ ศรีราชา เตือน ปชช.ระวังเป็นโรคที่มากับความร้อน อันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย เตือนประชาชนในภาคตะวันออก ระมัดระวังโรคที่มากับฤดูร้อน อันตรายถึงชีวิตได้

นายแพทย์ชัชวาล วัตนะกุล หัวหน้าฝ่ายผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมาก มักจะพบโรคที่มากับฤดูร้อน เช่น โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหาร และน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป แต่โรคที่มีการพูดถึงกันน้อย แต่มีคนเป็นบ่อยช่วงหน้าร้อนคือ “โรคฮีตสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” (Heat Stroke)
 
โดยผู้ที่ต้องอยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนติดต่อกันนานๆ หรือมีอาชีพที่ต้องทำงานกลางแสงแดด หรือกลุ่มที่ออกกำลังกายท่ามกลางความร้อนต้องระวัง เพราะหากสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการชดเชยน้ำอย่างเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เป็นโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยในช่วงนี้ต้องระมัดวังเป็นพิเศษเพราะอากาศร้อนมาก

สำหรับสาเหตุของโรคลมแดด เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกิดไป เหงื่อไม่สามารถระเหย และพาความร้อนออกจากร่างกายได้จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศา ซึ่งเป็นที่มาของโรคลมแดด โดยอาการของโรคลมแดดมี 2 แบบ คือ 1.แบบอ่อนๆ เช่น เวลาอยู่กลางแดดนานๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม แต่ยังรู้สึกตัวอยู่ ซึ่งหากได้นั่งพักในที่ร่ม อากาศถ่ายเท หรือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำเย็น หรือเช็ดตัวอาการก็จะดีขึ้น
 
2.แบบรุนแรง ผู้ป่วยจะมีตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นลม ซึ่งในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการแบบรุนแรงนี้อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการแบบอ่อนๆ แต่ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นเองโดยตรงก็ได้

นายแพทย์ชัชวาล กล่าวต่อว่า ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดส่วนใหญ่คือผู้ที่ต้องปฏิบัติงานท่ามกลางแสแดด ซึ่งในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และอยู่ในวัยทำงานก็เป็นโรคนี้ได้ เพราะหากอยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด แม้แค่เพียงไม่กี่นาทีก็สามารถทำให้เกิดโรคลมแดดได้ กลุ่มที่เสี่ยง คือ ทหาร ที่เข่ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมพร้อมของร่างกาย นักกีฬาสมัครเล่น และผู้ที่ทำงานกลางแดด รวมทั้งผู้สูงอายุเด็ก คนอดนอน คนดื่มสุราจัด และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

หากพบผู้ป่วยในช่วงนี้แล้วบ่นว่าร้อน คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีเหงื่อออกผิดสังเกต มีอาการงง พูดช้าลง เลอะเลือน การเคลื่อนไหวช้าลง โซเซ อาจให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคลมแดดได้ จึงควรพาผู้ป่วยไปพักในที่ร่มทันที เปิดเครื่องปรับอากาศ และใช้น้ำเย็นเช็ดตัวให้ผู้ป่วย เนื่องจากอาการในช่วงนี้จะคืบหน้าไปสู่อาการแบบรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะร่างกายจะพยายามนำเลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังเพื่อให้เหงื่อออก และไปเลี้ยงไตเพื่อให้ปัสสาวะออกแต่ก็ไม่เพียงพอ สุดท้ายเลือดก็จะไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอด้วย ขณะเดียวกัน โปรตีนที่สำคัญในร่างกายก็จะเสื่อม ซึ่งหากให้การช่วยเหลือไม่ทันเวลาอาการอาจจะรุนแรง และมีไตวายได้

ซึ่งหากเป็นโรคลมแดดแบบรุนแรงอัตราการเสียชีวิตก็จะสูง แต่หากได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีตั้งแต่ต้นก็จะลดโอกาสเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงลงไปได้ โดย 15 นาที หลังการปฐมพยาบาลผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วย โดยควรหาพาหนะที่ผู้ป่วยสามารถนอนได้ และมีเครื่องปรับอากาศ และจัดท่านนอนของผู้ป่วยให้เท้ายกสูงขึ้นกว่าศีรษะ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวให้จับนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง ระวังอย่าให้มีอะไรอยู่ในปาก และอย่าให้ผู้ป่วยจิบน้ำ ซึ่งหากไม่มีรถที่ผู้ป่วยสามารถนอนไปได้ ควรเรียกรถพยาบาล เพราะการนั่งตัวตรงอาจทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองของผู้ป่วยได้

อย่างไรก็ตาม เราควรดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคลมแดด หากต้องกลางแดดคือ เมื่อรู้สึกตัวว่ามีอาการเหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบหลบเข้าไปอยู่ในที่ร่มทันที แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัว หากรู้ว่าตนเองจะต้องออกไปอยู่กลางแดดก็ควรสวมเสื้อแขนยาว ใส่หมวก ใส่แว่นตากันแสงแดด และควรทาครีมกันแดดด้วย เพราะนอกจากแสงแดดจะเป็นสาเหตุของโรคลมแดดแล้ว ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น