ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชชี้คดีงาบป่า “วังน้ำเขียว” อื้อ 300-400 คดี พนักงานสอบสวนทำเต็มที่ ล่าสุดสรุปส่งอัยการแล้วกว่า 50 คดี ระบุหากต้องการโอนคดีไป “สตช.” ก็ยินดีหากทำให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ เผยเห็นใจพนักงานสอบสวนเจอปัญหาหลายด้าน ขณะ ผกก.สภ.วังน้ำเขียวระบุเฉพาะคดีป่าไม้มี 44 คดี สรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว 7 คดี ชี้เจอปัญหาความไม่ชัดเจนของพื้นที่ระหว่างป่าไม้ กับ ส.ป.ก.
วันนี้ (22 เม.ย.) นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า คดีการบุกรุกป่าในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทั้งป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง และอุทยานแห่งชาติทับลาน มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้ไม่น้อยกว่า 300-400 คดี และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสรุปสำนวนส่งอัยการพิจารณาฟ้องศาลแล้วไม่น้อยกว่า 40-50 คดี เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้นแต่เจ้าหน้าที่ทำงานตลอดไม่ได้นิ่งนอนใจ
ส่วนการเร่งรัดให้พนักงานสอบสวนให้สอบสวนคดีโดยเร็วพร้อมลงความเห็นนั้น ตน และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาได้เร่งรัดมาโดยตลอด แม้การไปตั้งศูนย์สอบสวนร่วมขึ้นโดยใช้ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอวังน้ำเขียวก็ดำเนินการมาแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น พนักงานสอบสวนที่มีจำนวนน้อย เพราะคดีป่าไม้ โดยเฉพาะแค่คดีการจับกุมไม้พะยูงในพื้นที่ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี อ.วังน้ำเขียว มีจำนวนมากกว่า 300-400 คดี ขณะที่จำนวนพนักงานสอบสวนมีเท่าเดิม และการสั่งสำนวนคดีซึ่งพยานหลักฐานค่อนข้างหายากนั้น ตนเข้าใจและเห็นใจพนักงานสอบสวน เช่น จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในกรณีที่จะต้องวินิจฉัยว่าขาดเจตนาหรือไม่ขาดเจตนา ฉะนั้น ต้องให้เวลากับตำรวจได้ทำงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพนักงานสอบสวนยืนยันกับตนแล้วว่า ภายในปีนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกคดีอย่างแน่นอน
ต่อข้อถามกรณีที่ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะขอโอนคดีบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว ทั้งหมดไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการ พร้อมระบุว่าได้ทำหนังสือไปถึง สตช.แล้ว เนื่องจากตั้งแต่ปี 2554 คดีไม่คืบหน้านั้น นายธงชัยกล่าวว่า โอนได้ทั้งนั้น โอนไปไหนไม่มีปัญหา เราพร้อมอยู่แล้ว หากเห็นว่าทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ ทำได้หมดไม่มีขัดข้อง เช่น ตนเคยทำกรณีแชร์ลอตเตอรี่ พอเริ่มทำไปจะเห็นว่า ความผูกพันของคนร้ายเชื่อมโยงออกนอกพื้นที่ เราก็ไม่สามารถทำได้แล้ว และเมื่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาทำแทนก็เป็นการดี
ในส่วนกรณีคดีบุกรุกป่าวังน้ำเขียวก็เช่นกันอาจต้องสอบสวนแผนที่ หรือพยานหลักฐานคนนอกจังหวัดหรือนอกพื้นที่ การที่หน่วยงานอื่นเข้ามาทำก็จะเป็นการดีเหมือนกัน แต่ต้องไปดูก่อนว่าการที่ทำคดีล่าช้าเพราะอะไร เพราะดึงให้ช้า หรือข้อจำกัดของการสอบสวน หรือจำนวนปริมาณคดีมีมาก ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนก็ดำเนินการมาโดยตลอด แต่เท่าที่ดูน่าจะทำยาก เช่น การชี้แนวเขตป่าของหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ชัดเจนและต้องดูที่เจตนาการบุกรุกอีก ยิ่งเรื่องมันซับซ้อนก็ต้องดูอีกมาก ปัญหาคือ ไม่ว่าจะเป็นนายทุนหรือเกษตรกรที่อยู่ดั้งเดิมบุกรุกก็ต้องลงไปสอบให้ละเอียด เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลคดีทั้งนั้น
ด้าน พ.ต.อ.กิตติ กองแสงศรี ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.วังน้ำเขียว เจ้าของท้องที่คดีบุกรุกป่าวังน้ำเขียว เปิดเผยว่า คดีในความรับผิดชอบกรมป่าไม้ที่เข้ามาร้องทุกข์กรณีมีบ้านพัก รีสอร์ต บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ต่อพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว มีทั้งสิ้นจำนวน 44 คดี ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและสรุปสำนวนคดีส่งไปชั้นพนักงานอัยการแล้วรวม 7 คดี
ส่วนปัญหาการสอบสวนและทำให้คดีล่าช้าไม่คืบหน้านั้น เนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของพื้นที่ซึ่งแต่ละหน่วยไม่ยืนยันชัดเจน เช่นเมื่อไปสอบสวนปรากฏว่าบางคดีเป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( ส.ป.ก.) แต่เป็นพื้นที่ภูเขา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในแนวเขตพื้นที่ ขอยืนยันว่าการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนจะไม่ล่าช้าแน่นอน เพราะทางตำรวจเองก็ต้องการทำให้คดีที่ค้างคาแล้วเสร็จเช่นกัน
สำหรับกรณีการจะโอนย้ายคดีการบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียวนั้น ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าคดีดังกล่าวนี้ตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการมีการแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งหากจะโอนย้ายคดีก็ต้องไปแก้กฎหมายเพราะระเบียบปฏิบัติให้ดำเนินการเช่นนั้น