จันทบุรี - เกษตรกรชาวสวนอำเภอเขาคิชฌกูฏ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างหนัก หลังพื้นที่ประสบภัยแล้งยาวนาน และฝนไม่ตกมานานกว่า 4 เดือน ขณะที่เทศบาลตำบลชากไทย ต้องขอรถบรรทุกน้ำจากป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และชลประทานจังหวัดจันทบุรี เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน
จากสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดจันทบุรี ยังเป็นปัญหาหนักใน 8 หมู่บ้าน ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี หลังเกษตรกรชาวสวนได้รับความเดือดร้อนหนักจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบกับในพื้นที่ไม่มีฝนตกมานานกว่า 4 เดือนแล้ว นอกจากนั้น น้ำตามคลอง หรือตามฝายเก็บกักน้ำที่เคยมีปัจจุบันก็ได้แห้งขอดลง รวมทั้งน้ำในสระที่เกษตรกรชาวสวนขุดเก็บกักไว้เพื่อใช้รดสวนผลไม้ ปัจจุบัน ก็ได้แห้งขอดลงเช่นกัน และไม่สามารถที่จะสูบขึ้นมาใช้ในการดูแลสวนผลไม้ได้
ล่าสุด ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 สวนของ นางสมศรี บำรุง อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14/48 หมู่ที่ 6 ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก หลังสวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และสวนเงาะที่ปลูกอยู่ในเนื้อที่ 12 ไร่ และผลผลิตที่ใกล้ที่จะตัดขายได้ ได้เกิดการร่วงหล่นเสียหายเป็นจำนวนมากเพราะขาดน้ำ และบางต้นก็ได้ยืนต้นตาย แม้จะว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ เพื่อที่จะช่วยในการบรรเทาทุกข์ไม่ให้ผลผลิตเสียหาย แต่ปรากฏว่า เมื่อขุดเจาะบ่อบาดาลลงไปก็พบว่าไม่มีน้ำ ทำให้เสียเงิน จำนวน 20,000 บาท ไปโดยเปล่าประโยชน์
ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ตำบลชากไทย กำลังได้รับความเดือดร้อนหนักต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และในช่วงนี้ผลผลิตใกล้ได้ระยะที่จะตัดขายจำเป็นต้องการน้ำเข้ามาบำรุงต้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ปัจจุบันน้ำที่เก็บกักไว้ในสระได้แห้งขอดลงไม่สามารถที่จะสูบขึ้นมาใช้ในการรดสวนผลไม้ได้ ทำให้ผลผลิตที่ตนเองปลูกไว้ได้เกิดการร่วงหล่นเสียหายเป็นจำนวนมาก และยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ
ขณะที่ นายเรวัต นิยมวงศ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชากไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรถบรรทุกน้ำของทางเทศบาลตำบลชากไทยมีเพียงคันเดียว ทำให้การช่วยเหลือจึงไม่ทั่วถึงต่อความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน
ล่าสุด ทางเทศบาลตำบลชากไทย ก็ได้ประสานขอรถบรรทุกน้ำจากทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และชลประทานจังหวัดจันทบุรี เข้ามาวิ่งเสริมเพื่อแจกจ่ายน้ำให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะความต้องการน้ำของเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ทั้ง 8 หมู่บ้าน ต้องการน้ำเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดความเสียหายนั่นเอง