กาฬสินธุ์ - ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา พบฟอสซิลสายพันธุ์ใหม่ ยุคจูแรสสิกตอนปลาย อายุราว 150 ล้านปี ที่ภูน้อย อำเภอคำม่วง กาฬสินธุ์ ด้านนักวิชาการชี้ภูน้อยเป็นสถานที่พบซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์มากที่สุด และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ศูนย์เรียนรู้บรรพชีวินภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายเลิศบุศย์ กองทอง นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ (อดีตนายอำเภอคำม่วง) พร้อมด้วย ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ร่วมแถลงข่าวการค้นพบซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลก โดยเป็นการพบเต่า และฉลามน้ำจืด อายุ 150 ล้านปี
รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับคณะวิจัยขุดค้นบริเวณภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ มาตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เพราะที่บริเวณภูน้อย ขุดค้นพบฟอสซิลสัตว์นานาชนิด เป็นการค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ของโลกหลายรายการ ที่ผ่านมา ขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชขนาดใหญ่ที่สุดมาแล้ว และยังขุดค้นพบสัตว์น้ำทั้งปลาฉลาม และเต่าน้ำจืด ถือเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก
ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ค้นพบฟอสซิลที่บริเวณภูน้อยมากกว่า 2,000 ชิ้น ที่ผ่านมา ได้ขุดค้นพบไดโนเสาร์กินพืช กินเนื้อ เทอโรซอร์ (สัตว์เลื้อยคลานบินได้) จระเข้ ฉลาม เต่า และปลา ถือเป็นการค้นพบแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ ได้ค้นพบปลานักล่าชนิดใหม่ของโลกมาแล้วคือ อีสานอิกธิส เลศบุศย์ศี
ล่าสุด คณะวิจัยและผู้ขุดค้นได้พบฟอสซิลสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดคือ เต่า ภูน้อยเซลีส ธีรคุปติ (Phunoichelys thirakhupit) และฉลามน้ำจืด อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิล (Acrodus kalasinensis) ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 ชนิด ได้รับการวิจัยโดย ดร.ไฮเยี่ยน ตง และตีพิมพ์ในวารสาร จีโอโลจีคอล แมกกาซีน ซึ่งเป็นเต่าขนาดเล็ก มีความยาวกระดองประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นเต่าที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเมื่อเทียบกับเต่าโบราณที่อยู่ในหมวดภูกระดึงในประเทศไทย อยู่ในยุคจูแรสสิกตอนปลาย อายุราว 150 ล้านปี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างตอนใต้ของประเทศจีนและไทย
สำหรับฉลามน้ำจืด อะโครดีส กาฬสินธุ์เอนซิน วิจัยโดย ดร.จิล คูนี และงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสารพาลีออนโทโลจิส ไซส์คริท สิ่งที่ขุดค้นพบครั้งนี้เป็นฟอสซิลชิ้นส่วนของฟัน เกล็ด และเงี่ยงบริเวณครีบหลัง มีความยาวประมาณ 7-13 มิลลิเมตร หนาประมาณ 2 มิลลิเมตร และสูงประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ตัวฟันแบน ฉลามน้ำจืดสายพันธุ์อะโครดัส เป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทย