xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯ ระยอง รับข้อเสนอกลุ่มประมงกันพื้นที่ชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองผู้ว่าฯจ.ระยอง รับข้อเสนอกลุ่มประมง กันพื้นที่ชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล
ระยอง - รองผู้ว่าฯ ระยอง พร้อมคณะ รับข้อเสนอกลุ่มประมงเพื่อพิจารณาให้กันพื้นที่จากชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารให้ปลาได้เจริญเติบโตเป็นการชั่วคราว หวังลดปัญหาความเดือดร้อนกลุ่มประมงพื้นบ้าน

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสิงห์บุรานุรักษ์ ชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายทรรศนะ วิชัยธนพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเรื่องร้องเรียนกลุ่มชาวประมงเขต อ.เมืองระยอง และเขต อ.แกลง จ.ระยอง พร้อมด้วย นายธีรวัฒน์ สุดสุข ปลัดจังหวัดระยอง นายอาทิตย์ ละเอียดดี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง นางลดาวัลย์ วนโกสุม ประมงจังหวัดระยอง ผู้แทนนายอำเภอเมืองระยอง ผู้แทนนายอำเภอแกลง คณะกรรมการ

โดยมี นายไพบูลย์ เล็กรัตน์ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ปากคลองแกลง น.ส.นวรัตน์ ธูปบูชา ตัวแทนกลุ่มโบสถ์ญวน ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง และตัวแทนกลุ่มประมงอื่นรวมทั้งสิ้น 20 คน เข้าร่วมประชุม โดยกลุ่มชาวประมงกว่า 100 คน นั่งรอฟังคำตอบอยู่ด้านล่าง

ด้าน นายธีรวัฒน์ สุดสุข ปลัดจังหวัดระยอง กล่าวว่า สรุปประเด็นที่กลุ่มประมงร้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดให้ช่วยเหลือประกอบด้วย 1.เคย (ลูกกุ้ง) ใช้ทำน้ำปลาของ จ.ระยอง หายไปจากทะเลระยอง 2.สัตว์น้ำลดลง 3.นักท่องเที่ยวลดน้อยลง และ 4.ปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ เล็กรัตน์ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กปากคลองแกลง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากลดน้อยลงไปมาก ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ประสบความเดือดร้อน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา มีการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยการปล่อยพันธุ์ก้ง ปู ปลา นับ 10 ครั้ง ช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ก็ยังไม่เห็นสัตว์ทะเลเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่อย่างใด ปัญหาความเดือดร้อนก็ยังคงอยู่ คิดว่าการฟื้นฟูทรัพยากรด้วยการปล่อยพันธุ์กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ คิดว่าไม่ใช่แก้ปัญหาที่ตรงจุด

ที่ผ่านมา ได้เสนอมาตรการแก้ไขด้วยการปิดอ่าวระยอง 3 เดือน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในทะเล คาดว่าจะเป็นตัวเลือกวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และเป็นการลดกิจกรรมการใช้เครื่องมือจับสัตว์ทะเลบางประเภท เช่น เรืออวนลากที่มาจากต่างจังหวัดมาหากินในทะเลระยอง โดยยกตัวอย่างจังหวัดอื่นที่มีการปิดอ่าวชั่วคราวช่วงฤดูวางไข่ แต่ทะเลระยองไม่เคยมีการปิดอ่าวแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อมีการปิดอ่าวชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทะเลระยองของเรา และจะทำให้สัตว์ทะเลเพิ่มปริมาณมากขึ้น

ขณะที่ นายมานะ จันทา หัวหน้ากลุ่มประมงอวนล้อมปลากะตักกลางวัน จ.ระยอง กล่าวเสริมว่า อาชีพประมงอวนล้อมเป็นอาชีพที่ทำลายล้างร้ายแรงอันดับหนึ่ง จึงมีความริเริ่มที่เล็งเห็นทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลงไปทุกปี ทะเลระยองเวลานี้ไม่มีปลากะตัก และเคยที่ใช้ทำกะปิ น้ำปลา ปลากะตัก และเคยเป็นห่วงโซ่อาหารของปลาหมึก ฯลฯ ซึ่งเกิดจากอุปกรณ์เครื่องมือเรืออวนล้อม อวนลากทำลายล้าง

จึงขอเสนอให้หน่วยงานภาครัฐกันพื้นที่จากชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล ร่วมกับโรงงาน และกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ปลากะตักมีความเจริญเติบโต เป็นห่วงโซ่อาหารของปลาอื่นๆ โดยไม่ให้เรืออวนลาก และอวนล้อมเข้ามาในพื้นที่ฟื้นฟูฯ คาดว่าหลังการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสักระยะหนึ่ง สัตว์ทะเลจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกลุ่มประมงพื้นบ้านเล็ก จ.ระยอง ได้ในระดับหนึ่ง

นายทรรศนะ วิชัยธนพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก เขต อ.เมืองระยอง และ อ.แกลง ได้รับข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยการกันพื้นที่จากชายฝั่งทะเลออกไป 12 ไมล์ทะเลเป็นการชั่วคราว โดยให้หน่วยงาน ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้เป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารให้แก่ปลาได้เจริญเติบโต ซึ่งจะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาต่อไป
ชาวบ้านพึงพอใจ ที่มีการรับปากในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น