เชียงราย - วัฒนธรรมจังหวัดฯ เปิดพื้นที่เสวนาพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ชี้โลกออนไลน์ทำสังคมเสี่ยง วิจัยพบ “สังคมก้มหน้า” ขยายตัวไม่หยุด คนกดมือถือมากถึง 13 ชม.ต่อวัน ทำความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนหดหาย ขณะที่ทีวีดิจิตอลเจอแรงบีบรัดทางธุรกิจหนัก
วันนี้ (27 มี.ค.) นายมงคล สิทธิหล่อ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นประธานจัดเวทีเสวนาเรื่อง “พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จ.เชียงราย” ที่ห้องประชุมไชยช้างคำ โรงแรมราชภัฏอินน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) โดยมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 150 คน
ก่อนเปิดเวที แม่ซอสร้อยสุดา ภิราษร และนายสมปราชญ์ ภิราษร ได้ขึ้นขับร้องเพลงพื้นบ้านภาคเหนือ หรือ “ซอ” เกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคสื่อของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาและทำนองที่ไพเราะสร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก จากนั้นนายอกนิษย์ มาโนษยวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสาระดี จำกัด เอกชนผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง, ดร.จิราพร ขุนศรี อาจารย์โปรแกรมนิเทศศาสตร์ มรช.และนายเจริญพงษ์ คำมีสว่าง หัวหน้าฝ่ายรายการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จ.เชียงราย ได้ร่วมวงเสวนา
นายมงคลกล่าวว่า ปัจจุบันการใช้สื่อของประชาชนทุกหมู่เหล่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แม้แต่เด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงสื่อทั่วโลก หรือสื่อสารกันไปมาได้ภายในไม่กี่วินาที รวมทั้งมีสื่อสาธารณะต่างๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ซึ่งหลายเรื่องกลายเป็นปัญหาของสังคม โดยเฉพาะสื่อลามกอนาจาร แฟชั่น ฯลฯ ทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม จนประเทศไทยต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การผลิตสื่อให้ดีจึงมีความสำคัญ และทางกระทรวงวัฒนธรรมก็มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรง
โดยในส่วนของ จ.เชียงราย นอกจากจะดูแลเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนทำสื่อหนังสือพิมพ์ การดูแลเรื่องร้านเกม และคาราโอเกะที่มีอยู่กว่า 1,000 แห่งแล้ว ยังมีบทบาทในการกำหนดทิศทางเพื่อรักษาสื่อที่ดีเอาไว้ กำจัดสื่อที่ไม่ดี และขยายวงสื่อที่ดีต่อไป
ด้าน ดร.จิราพรกล่าวว่า จากผลวิจัยในปัจจุบันพบว่าสังคมน่าเป็นห่วง การเลือกบริโภคสื่อมีความหลากหลาย สะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น โดยที่ผู้ใช้และบริโภคสื่อไม่รู้วิธีการเป็นผู้รับสาร และส่งสารที่มีประสิทธิภาพ ผลกระทบที่ชัดเจนระบุในผลการวิจัยว่า ผู้คนอยู่กันด้วยการก้มหน้า หรือนั่งกด ใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดลดลง คนหันมาใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อกิจกรรมดังกล่าวกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะที่นายอกนิษย์กล่าวว่า ยุคปัจจุบันคนดูโทรทัศน์น้อยลง หันมาเสพสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งจากการวิจัยระบุว่า แม้แต่ประชาชนที่ดูโทรทัศน์อยู่ร้อยละ 70 ก็จะยังมีโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ในการดูอินเทอร์เน็ตควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นสื่อโทรทัศน์ก็ต้องปรับตัว
โดยการจะทำให้เกิดการเผยแพร่สิ่งที่ดีไปสู่ผู้รับชมก็ยังต้องขึ้นอยู่กับ 3 ด้าน คือ ความนิยมของผู้ชม, ผู้ให้การสนับสนุนหรือสปอนเซอร์ และสถานีที่จะให้เผยแพร่ รวมทั้งต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากเรื่องธุรกิจ เช่น ทีวีดิจิตอลในปัจจุบันมีการวัดเรตติ้งกันทุก 3 เดือน เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตต้องทำงานหนัก เพื่อให้มีสื่อที่ดีสู่ประชาชนควบคู่ไปกับความลงตัวระหว่าง 3 ด้านดังกล่าว
“แต่ก็สามารถปรับตัวได้ เช่น ให้เยาวชนทำสื่อโทรทัศน์เรื่องสั้นที่ดีเข้าประกวดกัน โดยมีสปอนเซอร์ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ผลิตแอลกอฮอล์ เป็นต้น ในส่วนของประชาชนทั่วไปก็สามารถปรับตัวเพื่อให้เกิดสื่อที่ดีแทนที่สื่อที่ไม่ดีตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงวัฒนธรรมได้เช่นกัน เช่น กรณีเข้าดูยูทิวบ์ทางอินเทอร์เน็ต สามารถโหลดเรื่องดีๆ อย่างเพลงซอของแม่ครูสร้อยสุดา เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไม่ให้สูญหาย แทนที่จะดูสิ่งที่เผยแพร่มาจากทั่วโลกเพียงฝ่ายเดียว เป็นต้น” นายอกนิษย์กล่าว