xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านร้อง กก.สิทธิสอบฝ่ายปกครอง งัดกฎอัยการศึกปิดปากสกัดต้าน “โรงไฟฟ้าขยะลำปาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง/เชียงใหม่ - กลุ่มตัวแทนชาวบ้านป่าเหียงรวมตัวเข้ายื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชน หลังถูกห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นเรื่องการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ

วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มตัวแทนชาวบ้านป่าเหียง บ่อแฮ้ว ในนาม “กลุ่มรักป่าเหียง” จำนวน 10 คน ได้พากันเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างเดินทางมาที่โรงแรมเดอะปาร์ค จ.เชียงใหม่

เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำจากเศษวัสดุเหลือใช้(ขยะ) ซึ่งจะสร้างห่างจากชุมชนเพียง 300 เมตรเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อชุมชนเรื่องกลิ่น ของเน่าเสีย มลพิษทางอากาศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ขณะที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการรับรู้ข่าวสารหรือกระบวนการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวเลย

โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบ 6 เรื่อง คือ 1. การลิดรอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องตัวเองและชุมชนโดยไม่ได้มีการกระทำอะไรรุนแรงหรือยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นของชาวบ้าน แต่กลับถูกเรียกตัวให้เข้าพบฝ่ายปกครอง ให้เซ็นหนังสือรับรองการกักตัว และหนังสือรับรองสถานภาพ ซึ่งชาวบ้านได้อธิบายและชี้แจงมาโดยตลอดว่าไม่ได้ชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ชาวบ้านและชุมชน แต่ก็ไม่ยอมรับฟังเหตุผลของชาวบ้าน

2. ได้รับการคุกคาม บังคับ ข่มขู่ จากฝ่ายปกครอง เพื่อไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เพื่อให้ คสช.ได้รับทราบในการกระทำดังกล่าว

3. การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต.บ่อแฮ้ว นายกเทศมนตรีตำบลบ่อแฮ้ว สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแฮ้ว ปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม เข้าข้างบริษัทอย่างออกหน้าออกตา

4. การทำประชามติที่บริษัทได้ออกหนังสือถึงหน่วยงานราชการให้เป็นผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ

5. สิทธิในการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและชุมชน และ 6. การรับเงินของผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่นตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ

ด้าน นพ.นิรันดร์ได้กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวคงต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการและเจ้าของโครงการชี้แจง เพราะการจะทำโครงการใดก็ตามที่จะมีผลกระทบต่อชาวบ้าน ก่อนทำก็จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างรอบด้านทั้งผลดี ผลเสีย และให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบ และมีความวิตกกังวล ซึ่งทางคณะกรรมการฯ อาจจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

ส่วนเรื่องที่แกนนำบางส่วนถูกห้ามโดยการใช้กฎอัยการศึกนั้น ตนรู้สึกเป็นห่วงและกังวลว่ามีการใช้กฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะกฎอัยการศึกออกมาใช้เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดเหตุร้าย ซึ่งมาจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนเขาต้องการออกมาแสดงความวิตกกังวลเพราะกลัวว่าจะได้รับผลกระทบต่อตัวเอง และชุมชน ซึ่งมันคนละเรื่องกัน

“ผมเคยพูดหลายครั้งว่าหากมีการนำกฎอัยการศึกไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อแทนที่จะเป็นผลดีกลับจะเป็นผลร้ายต่อรัฐบาล และ คสช. เพราะ คสช.บอกต้องการคืนความสุขให้กับประชาชน แต่เมื่อประชาชนมีความทุกข์ และออกมาแสดงความคิดเห็น ออกมาร้องขอให้ช่วยเหลือ แต่กลับถูกบังคับด้วยกฎอัยการศึก มันก็จะสวนทางกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผมก็คงจะต้องให้ส่วนที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงในเรื่องนี้ด่วยเช่นกันว่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องและปกป้องตัวเองจากภัยที่กำลังจะมาถึงเขาผิดกฎข้อใดของกฎอัยการศึก”


กำลังโหลดความคิดเห็น