xs
xsm
sm
md
lg

ชาวโขงเจียมจี้ผู้รับเหมา เร่งขนหินออกจากที่สาธารณะ หวังสร้างอ่างเก็บน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีหารือหาข้อยุติขนหินในพื้นที่ป่าสาธารณะฝั่งซ้ายเขื่อนปากมูล บ้านหัวเหว่ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่ชาวบ้านต้องการใช้พื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง
อุบลราชธานี - จังหวัดเปิดเจรจา 3 ฝ่าย หาข้อยุติขนหินจากการสร้างเขื่อนปากมูลในพื้นที่บ้านหัวเหว่ อ.โขงเจียม เผยชาวบ้านต้องการให้ย้ายออกเร็วที่สุด หวังสร้างอ่างเก็บน้ำแก้ภัยแล้ง ด้าน อบจ.ไม่ติดใจเอกชนขนไปใช้ประโยชน์ แต่ร้องให้บริษัทผู้รับสิทธิจ่ายภาษีและค่าปรับ

จากกรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี ร่วมกับทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด เข้าตรวจสอบป่าสาธารณะฝั่งซ้ายเขื่อนปากมูล บ้านหัวเหว่ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งใช้เป็นจุดกองหินทรายที่ระเบิดมาจากเกาะแก่งกลางแม่น้ำมูล เพื่อก่อสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อ 26 ปีก่อน แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาพบมีการขนย้ายหินออกไปจากจุดเก็บราว 10% ของจำนวนหินทั้งหมดกว่า 500,000 ลูกบาศก์เมตร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้สั่งอายัดห้ามเคลื่อนย้ายหินทั้งหมดไว้

วันนี้ (17 มี.ค.) นายอำนวย หาญปราบ แกนนำชาวบ้านหัวเหว่ นำตัวแทนชาวบ้านประมาณ 20 คนเข้าพบนายธนู บุญเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร้องขอให้รีบขนย้ายหินทั้งหมดออกไปจากที่สาธารณะของหมู่บ้าน เพราะต้องการให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่กว่า 100 ไร่ให้ชาวบ้านมีน้ำดื่มน้ำใช้ในหน้าแล้ง เนื่องจากตลอดการสร้างเขื่อนปากมูลที่ผ่านมาชาวบ้านขาดแคลนน้ำใช้ เพราะทางเขื่อนนำหินภูเขาจำนวนมากมากองปิดทางน้ำเอาไว้

และนายธนูได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาข้อสรุป โดยนายสวัสดิ์ ฤทธิสิงห์ รองปลัด อบจ.แจ้งว่า การร่วมกับทหารเข้าตรวจสอบในวันดังกล่าว สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากทางอำเภอว่ามีนายทุนนำรถมาขนหินออกไปจากจุดเก็บ จึงเข้าตรวจสอบเพราะหินทั้งหมด อบจ.เป็นผู้ดูแล

ต่อมานายนิธิพัฒน์ ศรีธัญรัตน์ ตัวแทนบริษัท เอกอุบล บ้านและที่ดิน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิจากการซื้อขายหินเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ด้วยมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ชี้แจงว่า บริษัทของตนเป็นผู้เข้าไปขนหินดังกล่าวเอง เนื่องจากที่ผ่านมามีการประท้วงของชาวบ้านจากการสร้างเขื่อนปากมูลเป็นระยะ ทำให้ไม่สามารถขนย้ายหินมานานกว่า 20 ปี

กระทั่งเหตุการณ์เริ่มสงบ เมื่อต้นปี 2558 บริษัทจึงเข้ามาเคลื่อนย้ายหินนำไปใช้ประโยชน์ตามสัญญาซื้อขาย ทำให้ อบจ.ไม่ติดใจเรื่องการขนย้าย แต่ต้องการให้บริษัทชำระค่าภาษีการซื้อขายที่ยังคงค้างอยู่ประมาณ 400,000 บาท รวมทั้งค่าปรับที่ขนหินออกจากพื้นที่ล่าช้าให้กับทาง อบจ. นายธนูจึงให้ อบจ.ไปพูดคุยทำความตกลงกับบริษัทที่ได้รับสิทธิขนหิน และให้บริษัททำสัญญากับชาวบ้านว่าจะรีบขนหินออกไปจากพื้นที่เพื่อทำการปรับปรุงเป็นแหล่งเก็บน้ำให้เร็วที่สุดด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น