xs
xsm
sm
md
lg

สุดทึ่ง! พระ-เณร-ชาวบ้านนครพนมนับร้อย สร้างเมรุไม้ไผ่งานแฮนด์เมดใหญ่สุดในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - พระ เณร ชาวบ้านนครพนมนับร้อยสร้างเมรุไม้ไผ่งานแฮนด์เมดใหญ่สุดในไทย เตรียมงานพระราชเพลิงศพพระครูสถิตพุทธยานุรักษ์ (ชูศักดิ์ ฐิติญาโน) เผยหากจ้างเมรุลอยอาจใช้เงินกว่า 3 แสนบาท เผาแล้วผู้รับจ้างยกเมรุกลับ แต่หากสร้างเมรุไม้ไผ่ประหยัดเงินและสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากพระสงฆ์ใน ต.ขามเฒ่า ว่ามีการก่อสร้างเมรุขนาดใหญ่ด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง ใช้แรงงานชาวบ้าน และพระ เณร ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสี่เลนหมายเลข 212 ฝั่งขาออกจากตัวเมือง สายนครพนม-ธาตุพนม อ.เมือง จ.นครพนม จึงไปตรวจสอบพบว่าบริเวณโค้งบ้านนาโดน กม.17 ชาวบ้านและพระเณรกว่าร้อยคนช่วยกันนำไม้ไผ่มาเหลาเสี้ยนเพื่อนำไปประกอบทำเมรุชั่วคราว หลายคนนั่งประดิษฐ์ดอกไม้จันจากเปลือกข้าวโพด โดยมีแรงงานผู้ต้องขังชายเรือนจำกลางนครพนมมาช่วยขุดหลุมทำแท่นไม้จิกวางศพด้วย พร้อมนำกับข้าวมาล้อมวงรับประทานกัน สะท้อนถึงความสามัคคี

พระจักรพงษ์ จักกะวังโส พระเลขานุการเจ้าคณะตำบลคำเตย เขต 2 เจ้าอาวาสวัดโพนสวรรค์ ต.คำเตย เล่าว่า ก่อนจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพพระครูสถิตพุทธานุรักษ์ อดีตเจ้าคณะตำบลขามเฒ่า อดีตเจ้าอาวาสวัดพุทธยาภิบาล คณะสงฆ์ตำบลคำเตยได้นำเรื่องไปปรึกษาพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม ท่านได้ให้คำแนะนำว่าถ้าจ้างเมรุลอยอาจใช้เงินมากกว่า 3 แสนบาท เสียเงินโดยใช่เหตุ เผาแล้วผู้รับจ้างก็ยกเมรุกลับ ที่สำคัญชาวบ้านอาจไม่มีความสามัคคี คณะสงฆ์จึงมีมติทำเมรุชั่วคราวจากวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น

ชาวบ้านจึงพร้อมใจนำไม้ไผ่ที่มีอยู่หลังบ้านตามหัวไร่ปลายนามาถวาย พบว่ามีมากกว่า 2,000 ลำ นำมาก่อสร้างเมรุทรงจตุรมุขผสมไทยประยุกต์อีสาน กว้าง 16 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 15 เมตร เริ่มลงมือก่อสร้างวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา แล้วเสร็จค่ำวันที่ 12 มี.ค. ใช้เวลา 22 วัน โดยที่ตั้งเมรุในที่ดินว่างเปล่าเนื้อที่ 11 ไร่ของนางบุญญานุช อดีตแม่ชี อยู่ห่างจากวัดพุทธยาภิบาลประมาณ 100 เมตร มีที่จอดรถกว่า 100 คัน

พระจักรพงษ์กล่าวว่า มีแรงงานชาวบ้านชายหญิง 100 คน พระเณรจากวัดใกล้เคียง 30 รูป ช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยมีพระครูถิรสีลาภรณ์ เจ้าคณะตำบลคำเตย เขต 2 เป็นผู้ออกแบบเมรุ 9 ยอด ตกแต่งด้วยลายห้าทำจากไม้ไผ่ ประดับลวดลายจากฟางข้าว นอกจากนี้ยังมีบอร์ดซุ้มประวัติอีสานพื้นบ้าน น้ำตก และศาลาชั่วคราวของคณะสงฆ์ งานฝีมือแฮนด์เมดไม้ไผ่เข้าลิ่มและวัสดุเหลือใช้อื่น ซื้อเพียงตะปูบางส่วน ใช้งบสร้างไม่ถึง 30,000 บาท

ด้านพระธีรเดช ธีรเมโธ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง ระบุว่า ชาวบ้านร่วมกันบริจาค ญาติโยมทำกับข้าว ส่วนที่ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์ในพิธียังใช้กระติบข้าว ส่วนฟืนที่เผาใช้ไม้จิก ใช้ต้นกล้วยกั้นบังเปลวไฟจากความร้อน ขณะก่อสร้างเมรุไม้ไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวจอดรถริมทางแวะถ่ายภาพเมรุหลังนี้จำนวนมาก

สำหรับกำหนดการพิธีพระราชทานเพลิงศพพระครูสถิตพุทธยานุรักษ์ (ชูศักดิ์ ฐิติญาโน) วันนี้ (13 มี.ค.) เวลา 09.00 น. เคลื่อนศพจากวัดพุทธยาภิบาลสู่เมรุชั่วคราว ทอดผ้าบังสุกุล เวลา 19.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ปฏิบัติธรรมตลอดคืน วันที่ 14 มี.ค.มีพิธีเช่นข้างต้น

วันที่ 15 มี.ค. เวลา 16.00 น. นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประธานฝ่ายฆราวาส ทอดผ้าไตรพระราชทาน 1 ไตร พระเทพวรมุนี ประธานฝ่ายสงฆ์ พิจารณาบังสุกุล ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ วางดอกไม้จัน พระสงฆ์ 4 รูปสวดหน้าไฟ เวลา 21.00 น. ประชุมเพลิง ผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะตั้งโรงทาน โทร. 08-7233-7328



กำลังโหลดความคิดเห็น