xs
xsm
sm
md
lg

ค้า “ไทย-ลาว-พม่า” ผ่าน 3 จว.เหนือโตพรวด จับตาถนนเมียวดี-กรุกกริก เสร็จยอดพุ่งอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฉัตรชัย อ่อนศิริ ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรทุ่งช้าง จ.น่าน
น่าน/เชียงราย/ตาก - การค้าชายแดนภาคเหนือโตก้าวกระโดดทุกช่องทาง เผย “โรงไฟฟ้าหงสา” ทำยอดส่งออกผ่านด่านฯ ห้วยโก๋น เพิ่มจากหลักร้อยเป็นพันล้าน ขณะที่ค้าไทย-พม่า ด้านแม่สาย ปีนี้โตแล้ว 26.85% ส่วนแม่สอด-เมียวดี ยอดทะลุ 6 หมื่นล้าน/ปี คาดหลังถนนผ่านเทือกเขาตะนาวศรีเสร็จสมบูรณ์กลางปีนี้ โตเพิ่มอีกแน่

วันนี้ (9 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การค้าชายแดนผ่านด่านสากลห้วยโก๋น ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ที่เปิดทุกวันเสาร์ คึกคักไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าทั้งไทย-ลาว รวมไปถึงประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้า และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งเสื้อผ้า อุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตร น้ำมัน และสินค้าพื้นบ้านต่างๆ

นายฉัตรชัย อ่อนศิริ ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรทุ่งช้าง เปิดเผยถึงตัวเลขมูลค่าการส่งออกผ่านด่านฯห้วยโก๋น ย้อนหลัง 4 ปี ว่า มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด ซึ่งสาเหตุมาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา แขวงไซยยะบุรี สปป.ลาว ทำให้มีการส่งออกสินค้าด้านวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างจำนวนมาก

โดยตัวเลขมูลค่าการค้าการส่งออก ปี 2554 มีมูลค่า 841 ล้านบาท ปี 2555 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาท ปี 2556 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาท และในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 5,000 บาท ซึ่งสินค้าที่มีการส่งออกเป็นสินค้าทุน เกินกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เป็นจำพวก ซีเมนต์ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเป็นลักษณะของอุตสาหกรรมบริษัทใหญ่มากกว่าผู้กว่าผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่

ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นสินค้าท้องถิ่น สินค้าอุปโภคบริโภค และผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล ทำให้มูลค่าการส่งออกเป็นแบบก้าวกระโดด จากหลักร้อยล้าน เป็นพันล้านบาท

ด้านนายบูรณ์ อินธิรัตน์ อัคราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำประเทศพม่า กล่าวระหว่างร่วมเสวนาเรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจในสหภาพพม่า และขอบชายแดน ณ โรงแรมแม่โขง เดลต้า บูติค อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การค้าชายแดนระหว่างไทย กับพม่า ทั้งที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่สอด จ.ตาก มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำพม่า ยังให้ความเห็นไว้ด้วยว่า หากไทย และพม่า ร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพม่า โดยเฉพาะทางบก ก็จะทำให้มูลค่าการค้ามีมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะเป็นผู้ค้ารายใหญ่ของพม่า

โดยสำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย แจ้งว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา การค้าชายแดนระหว่างไทย-พม่า มีมูลค่าการค้ารวม 17,494.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,039.54 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 16,940.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,699.53 ล้านบาท โดยสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ยางพารา เศษยางพารา สินค้าเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ สินค้าประมงและปศุสัตว์ เครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 553.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 340.01 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าหมวดไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (ไม้ซุงสัก) สินค้าเบ็ดเตล็ด และของใช้ประจำวัน (อุปโภคบริโภค) เป็นสำคัญ

ขณะที่ในเดือน ม.ค.2558 หรือเดือนแรกของปีนี้ มีการค้าชายแดนระหว่างด่านศุลกากรแม่สาย กับ จ.ท่าขี้เหล็ก แล้ว 900.435 ล้านบาทบาท แยกเป็นการส่งออก 881.371 ล้านบาท และนำเข้า 19.063 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 26.85%

โดยในพื้นที่ชายแดนเชียงราย ยังมีเส้นทางการค้าที่ยังรอการพัฒนาเชื่อมต่อจากถนนสาย R3b (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-สป.จีน) ก็คือ เส้นทางสายแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-ตองยี ซึ่งถ้าหากมีการดำเนินการก็จะทำให้การค้าชายแดนด้านนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก

ส่วนด้านการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ในปีงบประมาณ 2555 มีมูลค่า 35,157 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 มีมูลค่า 43,977 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 มีมูลค่า 63,780 ล้านบาท แยกเป็นส่งออก 60,261 ล้านบาท นำเข้า 3,519 ล้านบาท

สินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมมากสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ เบียร์ โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ผ้าพิมพ์ฝ้าย โทรทัศน์ น้ำมันพืช รองเท้าแตะฟองน้ำ กาแฟปรุงสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่งกลิ่นอื่นๆ ส่วนสินค้านำเข้า10 ลำดับแรก ได้แก่โค กระบือมีชีวิต ถั่วลิสง แร่พลวง ถั่วเขียวผิวมัน สิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้ พลวงออกไซด์ พริกแห้ง ปลาเบญจพรรณ หัวหอมใหญ่ และเมล็ดงา

ส่วนสถิติการค้าชายแดน 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2558 (1 ต.ค.57-ก.พ.58) มีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นแล้ว 4,587 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 4,224 ล้านบาท นำเข้า 283 ล้านบาท

ซึ่งมีการประเมินกันว่า การค้าชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก จะขยายตัวเพิ่มจากเดิมอีกมาก เพราะนอกจากจะเป็น 1 ใน 5 พื้นที่เป้าหมายที่จะตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว การพัฒนาถนนสายเมียวดี-กอกาเรก(กรุกกริก) บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ก็จะแล้วเสร็จ

นั่นหมายถึงการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-พม่า จากแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก-ผาอัน ไปเมาะละแหม่ง (ระยะทาง 168 กม) หรือแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง (ระยะทาง 450 กม.) ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น จากเดิมที่การขนส่งสินค้า หรือคนผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ต้องกำหนดเวลาขาเข้า-ขาออกแบบวันเว้นวัน เนื่องจากเส้นทางเดิมแคบ รถไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น