แพร่ - เปิดแนวคิดเกษตรกรเมืองแพร่ พลิกที่ดินบนดอยทะเลหมอกควันไฟป่า ทำกินได้โดยไม่ต้องเผา ทำสวนปลูกสารพัดไม้ผล พร้อมสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน ปลอดปุ๋ย-สารเคมี 100% ขายได้กิโลฯ ละ 250 บาท บอกดีกว่าเผาป่าปลูกข้าวโพด
วันนี้ (6 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางดอยหัวโล้นที่เต็มไปด้วยหมอกควันและไฟป่าที่ปกคลุมไปทั่วเมืองแพร่ และจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนในช่วงนี้ทุกปี จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน การท่องเที่ยว ตลอดจนงานประเพณีสำคัญต่างๆ ขณะที่มาตรการห้ามเผาของทางราชการดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าใดนัก แต่ที่ “ร้องกวาง” กลับมีชาวบ้านที่ทำกินบนภูเขาทะเลหมอกควันโดยไม่ต้อง “เผาป่า” ได้
โดยนางจำเรียง ศรียงค์ วัย 52 ปี ชาวบ้านทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ ภรรยาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ด้ใช้พื้นที่ของตนเองจำนวน 20 ไร่บนภูเขาทะเลหมอกควัน ในหมู่ 5 ต.ปากห้วยอ้อย อ.ร้องกวาง ที่เป็นภูเขาทะเลหมอกควัน ปลูกไม้ผลหลายอย่าง ตั้งแต่ทุเรียน เงาะ ลองกอง มะม่วง และมะขามเปรี้ยว รวมทั้งสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ 18 ไร่ ในความตั้งใจลึกๆ ไม่ใช่ต้องการรายได้ แต่อยากให้ชาวบ้านได้เห็นว่าดีกว่าปลูกข้าวโพด หรือว่าไม่ต้องเผาก็สามารถจัดการวัชพืชได้
อีกทั้งตอนนี้ผลสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่กำลังมีผลผลิตออกสู่ตลาดมานานกว่า 1 เดือนแล้ว และกำลังพยุงให้ผลผลิตมีไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในเดือนเมษายนนี้
นางจำเรียงกล่าวว่า แปลงสตรอว์เบอร์รีของตนที่ปลูกมาตั้งแต่เริ่มฤดูหนาวได้ผลดีเกินคาด ดินที่ปลูกก็ใช้ได้ แม้ว่าอยู่บนเทือกเขาหัวโล้น ต.ปากห้วยอ้อย อ.ร้องกวาง โดยซื้อพันธุ์มาจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นพันธุ์พระราชทาน 80 ทดลองปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลดีมาก ต้นงาม ผลผลิตชุดแรกๆ ดีมาก จำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 250 บาท
นางจำเรียงบอกว่า ความจริงเราใช้น้ำน้อยมาก เพราะบนดอยหัวโล้นไม่มีแหล่งน้ำเลย มีเพียงบ่อน้ำที่รอน้ำฝนเพียง 1 บ่อเท่านั้น ในช่วงปลายฤดูมีรถน้ำไปเอาน้ำจากห้วยมาเสริมบ้าง เนื่องจากแปลงปลูกของเราไม่ใช้สารเคมี 100% ทำให้มีแมลงมารบกวนบ้าง จึงใช้วิธีกาวเหนียวติดกับแผ่นพลาสติกสีเหลืองล่อแมลงแทน พยายามให้ผลผลิตมีไปจนถึงสงกรานต์ จากนั้นก็จะรื้อแปลงเตรียมดินปลูกใหม่
โดยช่วงนี้คนเผากันจนอากาศเป็นพิษแล้ว การจัดการของหน่วยงานราชการที่เห็นไม่ประสบความสำเร็จ จึงน่าจะคิดกันใหม่ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้เปลี่ยนแนวคิดทำพืชทางเลือกใหม่ๆ ทุกวันนี้ขับรถผ่านไฟป่าทุกวัน เห็นไฟแดงเต็มดอยไม่รู้จะทำอย่างไร คือมาตรการที่เขาออกมามันไม่ได้ ไม่สำเร็จแน่
“บางคนเดินไปในไร่ก็จุดไฟ จะล่าสัตว์ก็จุดไฟอย่างไม่รับผิดชอบ ไฟลุกง่ายแต่เมื่อติดแล้วเอาไม่อยู่ บนภูเขาไฟไหม้แจ้งไปก็มีเจ้าหน้าที่มาบ้าง แต่ทำอะไรไม่ได้พื้นที่เป็นภูเขาสูง ห้วยลึกมากก็ทำอะไรไม่ได้ การป้องกันแต่แรกคือการทำแนวกันไฟ ซึ่งไม่มีใครเข้ามาให้ความรู้เทคนิคเลย ปัญหาก็ส่งผลไปที่สุขภาพของคนทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ทางออกน่าจะเข้ามาตั้งใครก็ได้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นตัวแทนดูแลในพื้นที่ดีกว่าทางราชการทำเอง ให้รับผิดชอบแปลงใครแปลงมันไปเลย
“ที่ดินของเราไม่ได้เผาเลย มีคนสนใจผลสตรอว์เบอร์รีมาก แต่ไม่สนใจวิธีคิด และวัตถุประสงค์ของการปลูกผลไม้ของเราเลย น่าแปลกหรือไม่” นางจำเรียงกล่าว