xs
xsm
sm
md
lg

“เลย” เล็งแก้ปัญหาท้องในวัยเรียน หลังสถิติพุ่งสูงเป็นอันดับ 3 ภาคอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลย - ห่วงเด็กท้องในวัยเรียน สสจ.เลยร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าโครงการบูรณาการป้องกันและแก้ปัญหาวัยรุ่นระดับจังหวัด ขอรับทุนสนับสนุนแก้ปัญหา ทำเอ็มโอยู 141 โรงเรียน 141 โรงพยาบาล เผยอัตราการคลอดในวัยรุ่น 15-19 ปีของจังหวัดสูงถึง 57.30 ต่อประชากรหญิงวัยรุ่น 1,000 คน เป็นอันดับ 3 ของภาคอีสาน

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่โรงแรมเลย พาเลซ นายเสน่ห์ นนทโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดโครงการจัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมที่จะส่งผลให้วัยรุ่นและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามศักยภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานแบบคู่หูเครือข่ายระหว่างสถานศึกษากับสถานบริการสาธารณสุข มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู อาจารย์ บุคลากรสาธารณสุขจาก 14 อำเภอ และผู้เกี่ยวข้อง 300 คน

นายสุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เลย กล่าวว่า จากสถิติสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2555-2556 พบว่าอัตราการคลอดลูกในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีของ จ.เลย เท่ากับ 57.30 และ 53.5 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คนตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในระดับประเทศ ถือเป็นอันดับ 3 ในเขต และอันดับ 3 ในภาค รองจาก จ.บึงกาฬ และสกลนคร และเป็นอันดับที่ 33 ของประเทศ

จากข้อมูลการให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีของศูนย์พึ่งได้ปีงบประมาณ 2555 พบว่ามีเด็กและสตรีอายุไม่เกิน 20 ปีถูกกระทำรุนแรง โดยประเภทของการถูกกระทำรุนแรงคือ ทางเพศมากที่สุดถึงร้อยละ 74 ปัญหายาเสพติดในด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด (Demand) ในจังหวัด พบว่ามีการขยายตัว กล่าวคือ ยังมีผู้เสพผู้ติดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งใน/นอกสถานศึกษา และผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่นยังสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

จากปัญหาดังกล่าว จังหวัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาวัยรุ่นระดับจังหวัดขึ้น เพื่อเสนอขอรับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และได้รับการอนุมัติเพื่อรับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการอนามัยเจริญพันธุ์ดี มีสุข วัยรุ่นเลย (Loei Buddy Happy Teen)

มีรูปแบบในการดำเนินงานโดยใช้กลไกการขับเคลื่อนของการทำงานร่วมกัน ระหว่างสถานศึกษากับสถานบริการสาธารณสุขในลักษณะคู่บัดดี้ (Buddy) 141 โรงเรียน 141 โรงพยาบาล และการพัฒนาอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ (RHD)

ทั้งนี้ ในส่วนของ 141 โรงเรียน 141 โรงพยาบาล จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนากระบวนการทำงานหลายส่วน ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทักษะชีวิตและเพศศึกษารอบด้าน กระบวนการส่งเสริมให้ครอบครัวมีทักษะการสื่อสารเชิงบวก กระบวนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน และกระบวนการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่น ผ่านระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เชื่อมโยงกับระบบบริการสาธารณสุข โดยองค์กรหลักในชุมชน/ท้องถิ่น

ได้แก่ สถาบันการศึกษา และสถานบริการสุขภาพ ที่จะต้องดำเนินภารกิจที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน และต้องพัฒนาความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างกระบวนการทั้งหมดให้เป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การมีสุขภาวะทางกาย อารมณ์ จิตใจที่ดี มีพฤติกรรมเหมาะสม และอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และได้รับการดูแลตามศักยภาพของตนเองได้ตามที่คาดหวัง


กำลังโหลดความคิดเห็น