ศูนย์ข่าวศรีราชา - 5 บริษัทในเครือสหพัฒน์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บันทึกความร่วมมือโครงการสร้างมาตรการองค์กรในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% หวังการเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมจะลดลง
วันนี้ (25 ก.พ.) พ.ต.อ.พิสิฏฐ โปรยรุ่งโจรน์ รองผู้บังคับการตำรวภูธรจังหวัดชลบุรี ที่ปรึกษาโครงการสร้างมาตรการองค์กรในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% เป็นประธานการบันทึกความร่วมมือระหว่างตัวแทนบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 บริษัท และ พ.ต.อ.คมสัน โยธคล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองขาม น.ส.นารี ฉัตรเฉลิม ประธานชมรมบริหารบุคคลเครือสหพัฒน์ ศรีราชา นายนคร สมานสินธุ์ เจ้าหน้าที่ สอจร. ภาคตะวันออก และสักขีพยานจากหน่วยงานต่างๆ
พ.ต.อ.พิสิฏฐ โปรยรุ่งโรจน์ รองผู้บังคับการตำรวภูธรจังหวัดชลบุรี ที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายรัฐว่าด้วยทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน โดยการส่งเสริมให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนนขึ้นภายในองค์กร อีกทั้งยังส่งเสริมด้านความปลอดภัยในอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอีกทางหนึ่ง โดยทั้ง 2 ฝ่ายจึงได้ให้ความตกลง และถือปฏิบัติต่อกันดังนี้ คือ
1.ภายใต้ข้อตกลงแห่งบันทึกความร่วมมือนี้ หน่วยงานที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายบันทึกนี้ต่างตกลงให้ความร่วมมือกันเพื่อดำเนินการส่งเสริมให้ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ในหน่วยงานต้องมีการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนนขึ้นภายในองค์กร และมีการบังคับใช้ให้ทุกคนภายในองค์กรได้ยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
2.ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการของทั้ง 2 ฝ่ายกำหนดในมาตรการองค์กร และยินยอมให้คณะกรรมการความปลอดภัยทางถนน สามารถเข้าตรวจสอบถึงมาตรการและการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนในหน่วยงาน ตลอดจนยอมรับการตัดสินของคณะกรรมการเป็นข้อยุติ
โดยบันทึกความร่วมมือนี้จัดทำขึ้นด้วยความมุ่งหมายในการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนให้เกิดการสวมหมวกนิรภัยในหน่วยงาน 100% เพื่อลดความสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นสำคัญ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพื่อยืนยันตามความประสงค์แห่งบันทึกนี้จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
พ.ต.อ.พิสิฏฐ กล่าวอีกว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในจังหวัดชลบุรี พบว่า ในปี 2556 มีคนเสียชีวิต จากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 441 ราย ปี 2557 จำนวน 436 ราย และในปี 2558 เดือนมกราคม เสียชีวิตไปแล้ว 42 ราย และในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยังไม่ครบ 1 เดือน เสียชีวิตไปแล้ว 30 ราย ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่มากพอสมควร
ดังนั้น ทาง สอจร.ภาคตะวันออก จึงได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายๆ หน่วยงานเพื่อช่วยการป้องกัน พร้อมรณรงค์ให้มีการใช้หมวกนิรภัยให้ได้ 100% โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน เนื่องจากรายงานจากสำนักงานประกันสังคมทำให้ทราบว่า ในจังหวัดชลบุรี มียอดผู้เสียชีวิตจากการใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมากที่สุด อยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขต สภ.บ่อวิน และ สภ.หนองขาม ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรม
จึงได้มีการหารือกัน และขอความร่วมมือไปทางบริษัทในเขตพื้นที่ดังกล่าว ในเบื้องต้นมี 5 บริษัท ซึ่งอยู่ในสวนอุสาหกรรมเครือสหพัฒน์เข้าร่วมโครงการฯนำร่อง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคิดว่าในอนาคตจะมีบริษัทต่าง ๆทยอยกันเข้ามา โดยหลังจากนี้ทางโครงการฯ จะมีการติดตามผลการดำเนินงาน คือ เข้าไปตรวจสอบสถิติการเกิดอุบัติ และจำนวนผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ และเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนของพนักงานจากโรงงงานทั้ง 5 แห่ง นี้จะต้องลดลงอย่างแน่นอน