จันทบุรี - ยล"เหลืองจันทบูร"ไม้งามแห่งภาตะวันออก ในเทศกาล"รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน" ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี
งานราชมงคล "รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน" ก่อกำเนิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ครั้งแรกเมื่อปี 2545 ซึ่งสถานที่จัดงานตั้งอยู่หน้าเขาคิชฌกูฏ ด้านหลังมีน้ำตกเขากระทิงโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และความชุ่มชื้นของระบบนิเวศ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของกล้วยไม้ป่านานาพันธุ์
แต่ที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึง คือ "เหลืองจันทบูร" ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น"ราชินีกล้วยไม้"แห่งจันทบุรี และชื่อ"เหลืองจันทบูร"ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดนั่นเอง
ช่วงฤดูหนาว "เหลืองจันทบูร" ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ในป่าเทือกเขาคิชฌกูฏ ออกดอกเหลืองอร่าม ผู้คนผ่านไปมาต่างก็อยากได้ไว้ครอบครอง เพราะแต่ละปีจะดอกดอกเพียงครั้งเดียว แต่ชูช่อนานถึง 1 เดือน จึงมีการลักลอบขโมยกล้วยไม้ป่าออกไปขายกันจำนวนมาก
ทำให้"เหลืองจันทบูร"ที่มีอยู่จำนวนมากในอดีต ลดน้อยลงจนแทบหาดูไม่ได้ ไม่ว่าจะในป่าหรือที่ใดก็ตามในจังหวัด ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ของจันทบุรี
"เหลืองจันทบูร"จัดเป็นพืชอนุรักษ์ภายใต้การควบคุมของกฎหมายไทย ตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และยังจัดเป็นของป่าหวงห้ามตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ห้ามค้าหรืออนุญาตให้ครอบครองได้ไม่เกิน 20 ต้น ดังนั้นการส่งออกต้องได้มาจากการขยายพันธุ์เทียมเท่านั้น คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการเพาะเมล็ดสังเคราะห์ และสถานที่เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร
และยังจัดเป็นพืชอนุรักษ์ บัญชีที่ 2 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส) ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)
สถานะหมายถึงเป็นพันธุ์ที่มีค่อนข้างมีน้อย แต่ยังไม่ถึงกับใกล้สูญพันธุ์ อนุญาตให้นำเข้า-ส่งออกได้ แต่ต้องมีการควบคุมที่เหมาะสม ประเทศต้นทางต้องมีใบอนุญาตส่งออกหรือ export permit ซึ่งกล้วยไม้ป่าทุกชนิดของไทยอยู่ในบัญชีที่ 2 ทั้งหมด ยกเว้นเอื้องปากนกแก้ว ฟ้ามุ่ย และรองเท้านารีทุกชนิด ที่ห้ามการนำเข้า-ส่งออก เนื่องจากเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงจัดอยู่ในพืชอนุรักษ์ บัญชีที่ 1 ซึ่งจากการประชุมไซเตสเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ณ ประเทศไทย ที่ประชุมมีมติให้ถอดฟ้ามุ่ยออกจากบัญชีที่ 2
"เหลืองจันทบูร"เป็นกล้วยไม้ที่มีความสวยงาม กอใหญ่ เติบโตช้า และหายาก จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ลักลอบขายกันในราคาที่สูง ปัจจุบันราคาตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท หากกอใหญ่สมบูรณ์จริงๆ แต่ปัจจุบันแทบไม่พบ"เหลืองจันทบูร"อยู่ในป่าธรรมชาติ จะเห็นเพียงการเพาะเลี้ยงกันตามบ้านพักอาศัยเท่านั้น
แต่การห้ามซื้อ-ขายคงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันเป็นที่ต้องการของกลุ่มเล่นกล้วยไม้ ดังนั้นการทำให้กล้วยไม้ที่หาได้ยากกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย และไม่ผิดกฎหมาย ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะลดการลักลอบนำกล้วยไม้ชนิดนี้ออกจากป่า ซึ่งหากไม่ร่วมกันอนุรักษ์หรือริเริ่มการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ตั้งแต่วันนี้ เชื่อว่าต้องสูญไปจากป่าแน่นอน
ดร.ชัยวัฒน์ มครเพศ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ คณะเทคโนโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เล่าว่า มทร.ได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้เหลืองจันทบูร พร้อมกับการศึกษาวิจัย ขยายพันธุ์ และส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นำไปปลูกในกิจกรรมคืนเหลืองจันทบูรสู่ป่า หรือปลูกทั่วไป เนื่องจากปัจจุบันพบกล้วยไม่ชนิดนี้ได้น้อยมากในธรรมชาติ เนื่องจากผืนป่าเปลี่ยนแปลงไป
เพื่อเป็นการอนุรักษ์กล้วยไม้ชนิดนี้ให้คงอยู่ต่อไป จึงมีการอนุรักษ์ไว้โดยการกระจายพันธ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในธรรมชาติให้มากขึ้น ซึ่งโครงการเริ่มขึ้นเมื่อปี 2542 โดยนายสมควร อานามวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ ได้จัดหางบประมาณจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์เหลืองจันทบูร ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติสืบต่อไป
กล้วยไม้เหลืองจันทบูรมีถิ่นกำเนิดแถบจ.จันทบุรี เป็นกล้วยไม้สกุลหวาย มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นโคนเล็กแล้วค่อยโป่งไปทางตอนปลาย ขนาดลำยาวมาก บางต้นยาวถึง 75 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะเป็นสีเหลือง โดยด้านข้างของลำจะมีใบอยู่ทั้งสองข้าง ช่อดอกออกตามข้อของลำ ออกดอกเป็นช่อ ช่อละ 2-4 ดอก กลีบดอกเป็นมัน รอบแรกดอกจะเป็นสีเหลืองอ่อน แล้วจะค่อยๆเข้มขึ้นจนเป็นสีจำปา ปากสีเข้มกว่ากลีบในคอ มีสีแต้มเป็นสีเลือดหมู 2 แต้ม ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร ช่วงออกดอกประมาณเดือนมกราคม-เมษายน พบและการกระจายพันธุ์เฉพาะในประเทศไทย
มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการอนุรักษ์หลืองจันทบูรจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)จันทบุรี ตั้งแต่ปี 2545 โดยส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปปลูกในกิจกรรมคืนสู่ป่า เพื่อให้เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองประจำภาคตะวันออกสืบต่อไป
สำหรับงานราชมงคล "รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน" ซึ่งมทร.ตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นครั้งที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 14-22 กุมภาพันธ์ ภายในงานจะมีกิจกรรมการประกวดกล้วยไม้เหลืองจันทบูร กล้วยไม้สกุลอื่นๆ พร้อมเปิดให้ชื่นชมความงดงามดอกไม้หลากสี พร้อมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสาร์-อาทิตย์นี้หากยังไม่มีโปรแกรมไปไหน แวะไปที่มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เพราะนอกจากจะได้ชมความงามของ"เหลืองจันทบูร" ราชินีกล้วยไม้แห่งจันทบุรีและภาคตะวันออก และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์พื้นเมือง ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว
ยังได้อิ่มบุญกับการนมัสการรอยพระพุทธบาทหลวง บนยอดเขาเขาคิชฌกูฎอีกด้วย!!!