xs
xsm
sm
md
lg

มทภ.3 สั่งพัฒนา “ดอยพญาพิภักดิ์” ชูพระบารมีปกเกล้าฯ เขตงาน 8

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งเดินเครื่องพัฒนา “ดอยพญาพิภักดิ์” พื้นที่ประวัติศาสตร์การสู้รบสมรภูมิเขตงานที่ 8 ระหว่าง พคท.กับทหารไทยในอดีต เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ หลังเสด็จฯ ประทับ “รอยพระบาท” จนสงบลงตราบทุกวันนี้

วันนี้ (17 ก.พ.) นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พล.ต.พัฒนา มาตร์มงคล ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกเชียงราย (กกล.รส.จทบ.ชร.) พ.อ.บรรณวัฒน์ พรหมจรรย์ ผบ.ร.17 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมที่ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการเพื่อความมั่นคง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ในพื้นที่วนอุทยานพญาพิภักดิ์

พ.อ.บรรณวัฒน์รายงานต่อที่ประชุมว่า เนื่องด้วยดอยพญาพิภักดิ์ เขตวนอุทยานพญาพิภักดิ์ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เนื้อที่ 3,750 ไร่ เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เมื่อปี 2503 เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ มีผู้เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อสู้กับรัฐบาล โดย พคท.ตั้งกองกำลังที่บ้านราษฎร์ภักดี (ห้วยเซงเม้ง) เรียกว่าเขตงานที่ 8 ดอยยาว ดอยผาหม่น ทหารไทยได้ตั้งฐานที่มั่นชื่อ ค่ายเมงกาโต ซึ่งมาจากชื่อหน่วยต่างๆ ที่ไปร่วมกันปฏิบัติการในพื้นที่ คือ ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ และค่ายสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) จ.ลำปาง

กระทั่งวันที่ 8 พ.ค. 2510 ถือเป็นวันปืนแตกที่มีการยิงต่อสู้กัน จากนั้นก็มีการสู้รบกันยาวนาน 4 ปี 9 เดือน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมาในปี 2521 รัฐบาลไทยมีนโยบายด้านการเมืองนำการทหารตามคำสั่งที่ 66/2523 ทำให้ผู้มีความแตกแยกทางความคิดเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย

และเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเยี่ยมทหารและราษฎร ณ บ้านพญาพิภักดิ์ รวมทั้งประทับรอยพระบาทลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารหาญและราษฎร หลังจากนั้นเหตุการณ์การต่อสู้ได้ยุติและสงบลงจนถึงวันนี้

ดังนั้น พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 จึงมีดำริจะปรับภูมิทัศน์ให้วนอุทยานพญาพิภักดิ์มีความสวยงามและสมพระเกียรติ รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของวีรบุรุษทหารไทยที่เสียสละเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนชาวไทย รวมทั้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ และคุ้มครองพื้นที่ป่าไม่ให้ถูกบุกรุกทำลาย

ซึ่งได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ และส่งหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะดูแลพื้นที่เพื่อพิจารณาอนุมัติด้วยแล้ว โดยมีหน่วยงานหลัก คือ กองพลทหารราบที่ 7 ในพื้นที่ จ.เชียงราย มีหน่วยขึ้นตรง คือ ร.17 พัน.3 ในพระองค์ฯ จังหวัดทหารบกเชียงราย ฝ่ายปกครอง องค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ตลอดจนทุกภาคส่วนเป็นหน่วยงานสนับสนุน

พ.อ.บรรณวัฒน์ระบุว่า ระยะเวลาดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน 1 ปี คือ ปี 2558 ระยะกลาง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2560 และระยะยาวประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยจะมีการสร้างอาคารและสถานที่ประดิษฐานรอยพระบาท สร้างฐานทหารจำลอง รวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยอยู่ช่วงประวัติศาสตร์ สร้างอาคารนำเสนอเรื่องราวโดยมัลติมีเดีย ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกป่า สร้างฝาย สร้างจุดกางเต็นท์ จุดจอดรถ ปรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบน้ำ ซึ่งในการดำเนินการทางแม่ทัพภาคที่ 3 ให้ดูตัวอย่างของหอฝิ่น หอบันดาลใจที่ดอยตุงเป็นต้นแบบด้วย

ด้านพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า พื้นที่ดอยพญาพิภักดิ์ถือว่าอยู่ในโซนเดียวกับภูชี้ฟ้า ผาตั้ง แต่เป็นพื้นที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ครบถ้วน ถือว่ามีศักยภาพ และมีความเหมาะสมในการส่งเสริมตามโครงการดังกล่าว ซึ่งการพัฒนาจะทำให้ประชาชนรู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ พระบารมี ความเสียสละของทหารหาญ และประชาชนในอดีต รวมทั้งจะทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าด้วย

นางวันดี ราชชมภู นายอำเภอขุนตาล กล่าวว่า จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนดีใจ และเห็นด้วยกับการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงอยากให้การพัฒนาควบคู่ไปกับการปกป้องและดูแลป่าไม้ไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น