นครพนม - เกษตรกรชาวสวนยางพารา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม กว่า 2,000 ไร่เร่งป้องกันไฟป่าไหม้สวนหน้าแล้ง ชี้อันตรายที่สุดถ้าเกิดเพลิงไหม้สวนยางเพราะเจ้าของสวนจะเหลือแต่ตัว ต้นยางที่ถูกไฟไหม้จะไม่โตหรือตายเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า ที่ตำบลพะทาย และตำบลหนองเทา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านทำสวนยางพารามากที่สุดของจังหวัดประมาณกว่า 2,000 ไร่ โดยในช่วงหน้าแล้งต้นยางจะผลัดใบทำให้มีใบยางแห้งจำนวนมากในแต่ละสวน ซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้สวนยางเสียหาย เจ้าของสวนแต่ละรายจะเร่งกวาดใบยางแห้งออกจากโคนต้นยาง สร้างแนวป้องกันไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
นางสุดา แก้วเวินชัย ชาวสวนยางพาราบ้านดงเย็น หมู่ 10 ตำบลพะทาย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมกราคม-มีนาคมช่วงหน้าแล้งต้นยางพาราจะผลัดใบทำให้มีใบยางแห้งร่วงหล่นจำนวนมากบวกกับหญ้าแห้งริมถนน ซึ่งเสี่ยงมากต่อการเกิดเพลิงไหม้สวนยางและลามไปทุกสวนอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงนี้ชาวสวนยางตลอดจนคนงานเมื่อปิดหน้ายางหยุดกรีดก็จะกลับเข้าไปอาศัยในหมู่บ้านทิ้งสวนยางไว้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็ไม่มีใครดับกว่าจะรู้ไฟก็ไหม้ทั้งสวนแล้ว
ดังนั้น ช่วงหน้าแล้งนี้เจ้าของสวนจะต้องสร้างแนวป้องกันไฟไหม้สวนยางด้วยการกวาดใบยางแห้งออกห่างโคนต้นยางทุกต้น โดยเฉพาะพื้นที่ติดริมถนนซึ่งมีหญ้าแห้งจำนวนมากริมทางซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี โดยต้นเพลิงทำให้ไฟไหม้สวนยางได้มี 2 กรณีที่อันตรายที่สุด คือ 1. เศษไฟจากก้นบุหรี่ที่ผู้สัญจรขับรถแล้วดีดก้นบุหรี่ปลิวลงริมทางและไหม้หญ้าแห้งแล้วลามใส่ใบยางแห้ง และ 2. ชาวบ้านจุดไฟในป่าไล่สัตว์ เช่น หนู พังพอน ฯลฯ แล้วลามเข้าสวนยาง
“การถูกไฟไหม้สวนยางพารานั้นถือว่าอันตรายที่สุด เพราะต้นยางจะมีรากโผล่ตามผิวดินเมื่อเกิดไฟเผาจะไหม้รากทำให้ต้นยางตายหรือชะงักการเจริญเติบโต และความร้อนของเปลวไฟจะทำลายใบยางอ่อนที่เริ่มแตกใบทำให้ไม่สมบูรณ์จนทำให้ไม่มีน้ำยาง ดังนั้น ไฟไหม้สวนยางจึงอันตรายที่สุดที่ชาวสวนยางต้องวางมาตรการป้องกันให้ดีที่สุดในช่วงหน้าแล้ง หากเกิดโชคร้ายขึ้นมาเงินทุนที่ลงไปจะไม่เหลือเลย” นางสุดากล่าว