อ่างทอง - “ชาวสวนข่า” ในพื้นที่ตำบลรำมะสัก อำเภอโพธิ์ทอง หน้าชื่นตาบาน หลังราคาข่าไม่ตก แถมยังสร้างรายให้แก่คนในพื้นที่ไม่ต้องออกไปขายแรงงานที่อื่น ชาวสวนข่าเผยข่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สู้ภัยแล้ง แถมเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง ส่งขายทั่วประเทศ
ในพื้นที่หมู่ 3 ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกสวนข่า โดยมีการปลูกตั้งแต่ 1 ไร่ ไปจนถึงหลายสิบไร่ โดยข่าทั้งหมดจะถูกส่งไปขายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.รำมะลัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง แห่งนี้มีรายได้หาเลี้ยงครอบครัวในช่วงว่างจากการทำนาพอสมควร โดยที่ไม่ต้องออกไปค้าแรงงานนอกพื้นที่
สำหรับในพื้นที่ ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง แห่งนี้ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการปลูกข่าจำหน่ายไปทั่วประเทศ เนื่องจากข่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง ที่สำคัญเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่จำหน่ายได้ราคาดีมาหลายปีติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน และตลาดมีความต้องสูง
นายระนอง ปัญญา อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 157 หมู่ 3 ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ชาวสวนข่ารายใหญ่ และยังเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตข่าจากชาวบ้าน และนำไปขายในตลาดทั่วไป เปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง แห่งนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำสวนข่า ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้พอสมควร โดยชาวบ้านแต่ละคนจะปลูกข่ากันหมด มากบ้างน้อยบ้างตามแต่พื้นที่ที่ตนเองมีอยู่
“สำหรับชาวบ้านที่ปลูกข่าจำนวนน้อย เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตของตัวเองแล้วก็จะออกไปรับจ้างทำสวนข่าให้แก่ชาวบ้านที่ปลูกข่าจำนวนมาก ทั้งรับจ้างปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต ตัดแต่ง ขุด ล้าง และนำใส่ถุง เพื่อเตรียมพร้อมออกจำหน่าย โดยขั้นตอนการจ้างนั้นจะชั่งเป็นกิโลกรัม ใครทำมากก็ได้เงินมาก จึงทำให้ชาวบ้านมีงานทำอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่บ้านของผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการจ้างแรงงานในหมู่บ้านมาทำการบรรจุข่าก่อนนำส่งออกไปทั่วประเทศ” นายระนอง กล่าว
ด้าน นางนิตยา ประสาทศิลป์ อายุ 40 ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง กล่าวว่า ตนปลูกข่าจำนวน 2 ไร่ หลังจากเก็บเกี่ยวขาไปแล้วก็เตรียมที่จะปลูกต่อ และจะใช้เวลาว่างในช่วงนี้ไปรับจ้างตัดแต่งข่า โดยจะรับจ้างเป็นกิโลกรัม ทำให้ในแต่ละวันจะมีรายได้ประมาณ 200-300 บาท หรือแล้วแต่จำนวนที่ทำ ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ และทำให้มีเวลาว่างดูแลครอบครัวด้วย
“การทำสวนข่าเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในตำบลรำมะสัก พอสมควร ที่สำคัญการปลูกข่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สู้ภัยแล้ง และยังมีราคาดีหลายปีติดต่อกัน โดยราคารับซื้อข่าต้นอยู่ที่ 28 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อตัดแต่งล้างทำความสะอาดพร้อมออกจำหน่ายขายส่งราคาจะอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางเดินทางมาซื้อถึงที่ก่อนนำออกไปจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป” นางนิตยา กล่าว