xs
xsm
sm
md
lg

พนักงาน ม.บูรพา ร้องศูนย์ดำรงธรรม รักษาการอธิการบดีออกข้อบังคับไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชลบุรี - อาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา รวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม กรณีผู้บริหารรักษาการ ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย ไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ วนิชวัฒนานุวัติ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ทางตน และคณาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา 31 คน ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรีกรณีที่ทางสภามหาวิทยาลัยบูรพา ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย 2557 (ฉบับที่ 5) ข้อ 10 (ก) (2 ) ข้อ 10(ข) (11) และข้อ 54 (14) ซึ่งยกเลิกข้อ 30 และข้อ 54 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย 2556 ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา

โดยหลังจากที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้รับข้อร้องเรียนแล้ว ได้เสนอต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งได้แจ้งกลับมาว่า ได้ดำเนินการตามที่ร้องเรียน พร้อมทั้งได้ทำการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสรุปเป็นข้อเท็จจริงเสนอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา และดำเนินการต่อไป

สำหรับข้อสรุปที่นำให้ทางรัฐมนตรี พิจารณาคือ

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ และพนักงมหาวิทยาลัยบูรพา ให้การสอดคล้องกันว่า ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 ฉบับที่ 5 ข้อ 10 (ก) (2) มีใจความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องมีอายุไม่กิน 70 ปี ทำให้ผู้ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีที่ได้คัดเลือกไว้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ชารี มณีศรี อายุ 72 ปี และศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ อายุ 74 ปี ไม่สามารถได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวออกภายหลังที่คณะกรรมการอธิการบดีได้พิจารณาสรรหาฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่สภามหาวิทยาลัยยังไม่เลือกผู้ใดมาเป็นอธิการบดี

และข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 ฉบับที่ 5 ข้อ 10 (ข) (11) ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัย มีลักษณะต้องห้ามคือ เป็นผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และข้อ 54 (4) ได้ระบุไว้ว่า พนักงานและลูกจ้างต้องออกจากงาน เมื่อถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งการออกข้อบังคับมีผลให้พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยถูกรอนสิทธิในการแก้ไขหนี้สินของพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา เพราะพนักงาน หรือบุคลากรของหน่วยงานราชการอื่นเมื่อถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ยังสามารถเป็นข้าราชการ หรือพนักงานในหน่วยงานนั้นได้

2.ดร.สาธิต ปิติวรา และรองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย ให้การว่า ดร.สาธิต และรองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพา ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ได้นำวาระการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยฉบับที่ 5 พ.ศ.2557 ข้อ 10 และข้อ 54 เข้าพิจารณาในวันประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพา โดยไม่ส่งเอกสารร่างข้อบังคับที่เสนอแก้ไขปรับปรุงให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพาทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามข้อบังคับว่าด้วยการประชุม และวิธีการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 ข้อ 3.4.1 และ 3.4.2 และสภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบข้อบังคับดังกล่าว

โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 8 คน เห็นว่า ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557 ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ในเรื่องของอายุ 70 ปี และการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการกีดกัน และตัดสิทธิบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย และมีผลกระทบต่อบุคลากรในมหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้มีบันทึกข้อความที่ พิเศษ/2557 ลงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2557 เรื่องขอคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557

3.กรณีข้อร้องเรียนดังกล่าว ได้ดำเนินการฟ้องคดีในเรื่องขอให้เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557 ข้อที่ 10 (ก) (2) ความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี ข้อที่ 10 (ข) (11) ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัย มีลักษณะต้องห้าม คือเป็นผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และข้อที่ 54 (14) ได้ระบุไว้ว่า พนักงานและลูกจ้างต้องออกจากงานเมื่อเป็นผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต่อศาลปกครองจังหวัดระยองแล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดระยอง
กำลังโหลดความคิดเห็น