xs
xsm
sm
md
lg

“ดาว์พงษ์” นำทีมเปิดรณรงค์งดเผาครั้งใหญ่ ย้ำทุกหน่วยเคาะบ้านทุกหลังดึงคนลำปางร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - รมว.ทรัพย์ฯ นำทีมพลังมวลชนเมืองรถม้าเปิดรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” ย้ำทุกหน่วยเดินเคาะประตูบ้านทุกหลังร่วมงดเผา เผยปี 57 “ลำปาง” มีปัญหาหมอกควันคลุมเมืองถึงขั้นวิกฤต 36 วัน ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 243 มก./ลบ.ม.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (5 ก.พ.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” ซึ่งกรมป่าไม้่ และจังหวัดลำปาง จัดขึ้น โดยมีตัวแทนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และ อปท.ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 คน

พล.อ.ดาว์พงษ์เปิดเผยว่า หมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่เกิดจากไฟไหม้ป่า การเผาในที่โล่งแจ้ง และการเผาเพื่อการเกษตร ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

“การที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานเชิงรุกคือเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ถึงประตูบ้าน ส่วนมาตรการทางกฎหมายก็ไม่ควรละเลยแต่ควรใช้ในลำดับสุดท้าย”

ด้านนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้รายงานสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดลำปางว่า ปี 57 พื้นที่จังหวัดลำปางตรวจพบจุดความร้อน หรือ Hotspot ในห้วง 100 วัน (27 ม.ค.-6 พ.ค. 57) จำนวน 1,028 จุด พบมากในบริเวณท้องที่อำเภอแจ้ห่ม งาว เมืองลำปาง เถิน แม่เมาะ ทำให้เกิดปัญหาสภาวะหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 10 เกินค่ามาตรฐาน (120 mg/m3) 36 วัน

โดยในวันที่ 7 มี.ค. 57 ค่า PM 10 พุ่งขึ้นสูงสุด 243 mg/m3 ณ สถานีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ และตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.-4 ก.พ. 58 เกิด hotspot ขึ้นแล้ว 27 ครั้ง เป็นพื้นที่ป่าสงวน 21 ครั้ง และพื้นที่การเกษตร 6 ครั้ง คาดว่าสถานการณ์ปัญหาไฟป่าจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป

ดังนั้น ทางจังหวัดฯ จึงได้กำหนดมาตรการควบคุมห้วงเวลาวิกฤต 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-1 เม.ย. 58 แต่ได้มีการจัด kick off รณรงค์ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 57 และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์-ทำแนวกันไฟ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่างๆ มาเป็นลำดับ พร้อมทั้งได้มีการวางมาตรการรองรับใน 5 มาตรการ คือ

1. ด้านการบริหารจัดการ มีการบริหารจัดการบูรณาการและศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ (War Room) ระดับจังหวัด มีการประชุม War Room ระดับจังหวัดทุกวันจันทร์ เวลา 10.00 น. เพื่อสรุปและประเมินสถานการณ์รายสัปดาห์

2. การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ชุมชนหมู่บ้านต่างๆ

3. การป้องกันและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการหาของป่าหรือมีกิจกรรมในพื้นที่ป่า และขอความร่วมมือการจัดตั้งฐานปฏิบัติการให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 10 ฐาน และการทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า

4. ด้านการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนในพื้นที่เสี่ยงป้องกันและควบคุมไฟป่ากว่า 150 หมู่บ้าน โดยการทำแนวกันไฟและดูแลแนวกันไฟของชุมชน หรือจัดชุดอาสาสมัครชุมชน สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จัดกิจกรรมหรือเวทีเสวนาผ่านกลุ่มมวลชนหรือเครือข่ายภาคประชาชน และการประกวดชุมชนปลอดการเผาทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ






กำลังโหลดความคิดเห็น