พิษณุโลก - ชาวบ้านวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมฝายยางบางบ้า-บางระกำ หลังพบรั่ว เก็บน้ำไม่ได้ จนปล่อยร้างมา 3 ปี ทั้งที่สร้างได้ไม่กี่ปี ขณะที่ ผอ.ชลประทานพิษณุโลก บอกชำรุดมานานไม่ซ่อมแล้ว ชงเรื่องสร้างประตูระบายน้ำใหม่แทน
วันนี้ (31 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหมู่ 1 บ้านบางบ้า ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจฝายยางของกรมชลประทาน ที่สร้างกั้นแม่น้ำยม บริเวณบ้านบางบ้า เมื่อปี 2543 ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ยางรั่วหลายแห่ง ใช้งานไม่ได้แล้ว
ทั้งที่เป้าหมายตามโครงการน่าจะได้ใช้ประโยชน์บรรเทาภัยแล้งที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งโครงการฝายยางดังกล่าว ก่อสร้างโดยโครงการชลประทานพิษณุโลก สำนักงานชลประทานที่ 3 ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2543 แต่ปรากฏว่า ในปัจจุบัน ฝายมีความเสียหายไม่สามารถใช้งานได้
นายทองเสา แป้นลาภ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 1 ต.บางบ้า ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ใกล้ฝายยาง กล่าวว่า ตน และชาวบ้านหลายหมู่บ้านเคยได้ใช้ประโยชน์จากฝายยางในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง แต่ใช้ได้ไม่กี่ปี จากที่เคยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ๆ ก็ไม่มีใครมาดูแล หากชาวบ้านต้องการจะใช้งานฝายก็ต้องรวมเงินกันหาเครื่องมาสูบลมให้ฝายพองตัว เก็บน้ำได้ แต่พอหลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ฝายยางเสียหายหนัก มีรอยรั่วหลายแห่ง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อีก สภาพของฝายยางปัจจุบันนี้จึงเป็นเหมือนฝายร้าง ใช้ประโยชน์เก็บกักน้ำไม่ได้
นายทองเสา กล่าวอีกว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลซ่อมแซมฝายให้เก็บน้ำได้เหมือนเดิม เพราะใช้งบประมาณในการสร้างหลายล้านบาท ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้สร้างฝายบางบ้า มานานแล้ว วัตถุประสงค์เดิมเพื่อกักเก็บน้ำหลังฤดูน้ำหลาก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำไว้ใช้ โดยเฉพาะการเลี้ยงโค-กระบือ แต่สภาพปัจจุบันได้ฝายรั่ว และใช้งานไม่ได้มาหลายปีแล้ว คงต้องลกเลิกการใช้ประโยชน์จากฝายบางบ้า ไม่เสนอซ่อมปรับปรุง เนื่องจากจะได้ประโยชน์น้อย ระดับกักเก็บน้ำค่อนข้างต่ำ
โดยชลประทานพิษณุโลก กำลังเสนอการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยม 2 จุด ได้แก่ ประตูท่านางงาม ในเขต ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ อยู่ด้านทิศใต้ของฝายบางบ้า ไปเล็กน้อย และประตูวังอิทก ตัวโครงการอยู่ในเขตตำบลกำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร
ทั้ง 2 ประตูระบายน้ำที่กั้นไม่น้ำยม จะได้ประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรของอำเภอบางระกำอย่างมาก ทั้ง ต.วังอิทก ต.บางระกำ ต.ท่านางงาม ต.ชุมแสงสงคราม และ ต.คุยม่วง โดยเฉพาะประตูท่านางงาม จะกักเก็บน้ำได้มากกว่า ยกระดับได้สูงกว่านำงบประมาณมาซ่อมฝายบางบ้า
นายบรรดิษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ออกแบบก่อสร้างประตูวังอิทกแล้ว ขณะที่ประตูท่านางงาม กำลังออกแบบ แต่เนื่องจากแม่น้ำยม เป็นลุ่มน้ำสายหลักของชาติ การก่อสร้างโครงการใดๆ จึงต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน ซึ่งได้เริ่มทำอีไอเอสำหรับประตูวังอิทกแล้ว ส่วนประตูท่านางงาม จะดำเนินการในลำดับต่อไป