xs
xsm
sm
md
lg

ลุยป่าช้าบ้านนาราชควายน้อย ดู “ชุมชนบ้านผีตายโหง” สืบทอดประเพณีโบราณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครพนม - ลุยป่าช้าบ้านนาราชควายน้อย ดู “ชุมชนบ้านผีตายโหง” ประเพณีปฏิบัติมากว่าร้อยปี สัปเหร่อเผยความเชื่อท้องถิ่น ศพผีตายโหงเมื่อเผาเสร็จต้องปล่อยถูกฝนตกรดเชิงตะกอนกระดูก 3 ห่าจึงจะเก็บกระดูกทำบุญได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนมว่า ที่ป่าช้าบ้านนาราชควายน้อย หมู่ 5 ต.นาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม มีสมาชิกประมาณ 200 ครัวเรือน เมื่อมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิตลงด้วยโรคชราหรือเจ็บป่วย ตลอดจนการเสียชีวิตกะทันหัน เช่น อุบัติเหตุ ไหลตาย ที่เรียกว่า “ตายโหง”

หลังจากเผาศพผู้ตายเก็บกระดูกทำบุญเรียบร้อย ญาติพี่น้องผู้ตายก็ทำการสร้างบ้านหลังขนาดเล็กๆ มีทั้งบ้านชั้นเดียวหรือบ้านยกพื้นสูงป้องกันน้ำท่วมป่าช้า เพื่อให้วิญญาณผู้ตายได้มีที่อยู่อาศัย โดยบ้านผู้ตายแต่ละหลังก็จะมีเครื่องอำนวยความสะดวก อาทิ โทรศัพท์มือถือหรือเครื่องใช้อื่นๆ แล้วแต่ญาติจะจัดให้ โดยข้างบ้านแต่ละหลังจะมีแผ่นไม้ปักระบุชื่อผู้ตาย ส่วนใต้ดินก็จะฝังขวดโหลบรรจุกระดูกผู้ตาย แต่ถ้าผู้ตายเป็นสามี-ภรรยาก็จะสร้างบ้านติดกัน

นายอำพร ทองดี อายุ 45 ปี สัปเหร่อประจำวัด เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านผีในป่าช้านี้จะมี 2 ชุมชน ถ้าผู้เสียชีวิตด้วยโรคชรา เจ็บไข้ได้ป่วย จะนำศพมาเผาที่เมรุแล้วก็สร้างบ้านให้ในป่ารอบเมรุตามใจญาติพี่น้องจะทำตรงจุดไหน นอกจากนี้ยังมีชุมชนบ้านผีตายโหงจะอยู่อีกด้านหนึ่งคนละฟากป่าห่างกันหลายสิบเมตร คือ ผู้ตายด้วยการเกิดอุบัติเหตุ ตั้งแต่รถชนกัน ไหลตาย เป็นต้น ที่นี่จะเรียกกันว่า “ตายโหง” ต้องนำศพมาประกอบพิธีทางศาสนาและเผาตรงจุดนี้เท่านั้น จะนำไปเผาที่เมรุไม่ได้ เพราะเชื่อว่าวิญญาณแรงและอาถรรพ์ เมื่อประกอบพิธีเผากับพื้นดินจะต้องทำรั้วล้อมเชิงตะกอนไว้ รอฝนตกใส่เชิงตะกอนถึง 3 ห่า หรือ 3 ครั้ง จึงจะสามารถเก็บกระดูกผู้ตายไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ได้ และสร้างบ้านให้ผู้ตาย โดยนำกระดูกผู้ตายฝังตรงข้างบ้านตรงจุดที่เผาศพ

“สาเหตุที่ให้ฝนตกรด 3 ห่า เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษว่าจะทำให้วิญญาณผู้ตายเย็นลง ไม่ดุ ไม่เฮี้ยน”

พระอาจารย์ธีระ ทัมมะโย อาจารย์วัดบ้านนาราชควายน้อย กล่าวว่า การสร้างบ้านให้ผู้ตายที่ป่าช้าเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่นี่มานานตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมากว่า 100 ปี คือ สร้างบ้านให้วิญญาณผู้ตายที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดได้มีที่อยู่อาศัยพักพิง บางคนก็นำกระดูกผู้ตายมาไว้ในธาตุบริเวณวัด แต่ส่วนใหญ่จะฝังอยู่ที่ป่าช้า


กำลังโหลดความคิดเห็น