xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ไฟไหม้บ่อขยะชุมชน “บทเรียนไม่เคยเปลี่ยน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการชี้ไฟไหม้บ่อขยะชุมชน บทเรียนไม่เคยเปลี่ยน ภาครัฐควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดไฟไหม้กองขยะซ้ำซาก ซึ่งส่งมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมาก ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจ่ายค่าชดเชย แนะควรมีนโยบาย และแผนการในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้กองขยะอื่นๆ อย่างไร

จากกรณีเกิดไฟไหม้บ่อขยะขนาด 19 ไร่ ของเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี หมู่ 11 ต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยควันไฟได้ปกคลุมไปทั่วบริเวณหมู่บ้านคลองกลาง และหมู่บ้านข้างเคียงอีกหลายหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษถึง 150 ครัวเรือน หรือ 600 กว่าคน โดยส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ หายใจติดขัด ผื่นแดงตามผิวหนัง และอาการตาแดง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2558 ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถดับไฟได้สนิทนั้น

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะของชุมชนจะเกิดเป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งลมแรง จนถึงฤดูร้อนประมาณเดือนธันวาคม ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ดังตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ไฟไหม้บ่อขยะของเทศบาลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไฟไหม้บ่อขยะเทศบาลลาดสวาย จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

สาเหตุหลักๆ ส่วนใหญ่มาจากเชื้อไฟที่ปลิวมาจากการเผาซากพืช หรือวัชชพืชของเกษตรกรและมาตกใส่กองขยะ มาจากการทิ้งเชื้อไฟของผู้มาเก็บ และคัดแยกขยะบนกองขยะ รวมทั้งในฤดูร้อนอุณหภูมิสูงมากอาจทำให้ก๊าซมีเทนซึ่งเกิดจากการย่อยสลายในกองขยะติดไฟได้ การที่กองขยะชุมชนที่เททับถมไว้ขนาด 20 ไร่ ซึ่งอาจมีสารเคมีอันตรายจากถ่านไฟฉาย หลอดนีออน กระป๋องยาฆ่าแมลง และอื่นๆ

การเกิดไฟไหม้ขึ้นเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างมากเพราะทำให้เกิดควันดำ ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน สามารถเข้าไปถึงถุงลมปอดได้ ยังมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ตลอดจนสารเคมี และไอระเหยสารอินทรีย์ต่างๆ มากมายที่ทำลายระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ระยะยาวอาจเป็นมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ภาคประชาชนถามไปยังรัฐบาลก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดไฟไหม้กองขยะซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไป เมื่อเกิดไฟไหม้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมากใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจ่ายค่าชดเชย และมีนโยบายและแผนการในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้กองขยะอื่นๆ อย่างไร โรดแมปของรัฐบาลในการที่สลายกองขยะเก่าที่ทิ้งกันมานานจะจัดการได้หมดเมื่อไหร่

นายสนธิ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการจัดการมูลฝอย หรือขยะคือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2550) กำหนดในมาตรา 18 หรือฉบับแก้ไขคือมาตรา 9 กำหนด “การเก็บ ขนหรือกำจัดสิ่งปฎิกูลหรือมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจของราชการท้องถิ่นนั้น” ที่ผ่านมา หน่วยราชการส่วนท้องถิ่นได้เก็บรวบรวมขยะไปเทกองเป็นภูเขาประมาณ 2600 แห่ง แทนที่จะใช้การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขภิบาล คือ ฝังกลบ บดอัด และเอาดินกลบอย่างมิดชิดในแต่ละวัน

รวมทั้งจัดให้ระบบกำจัดน้ำเสียจากน้ำชะกากต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในตำราเรียนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง และในมาตรา 8 ให้อำนาจอธิบดีกรมอนามัยมีอำนาจ “ในการออกคำสั่งให้ระงับการดำเนินการในกรณีที่เกิดหรือสงสัยว่าจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน”

แต่ในกรณีที่เทศบาลนำขยะมาเทกองเป็นภูเขาเป็นเวลานานหลายปีที่ผ่านมา กรมอนามัยกลับปล่อยปละละเลยไม่เคยออกคำสั่งระงับเลย ทำให้มีกองขยะเป็นภูเขา และเกิดไฟไหม้เช่นทุกวันนี้ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระหนักของประชาชนที่ต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากราชการท้องถิ่นเอง แทนที่ท้องถิ่นจะแสดงความรับผิดชอบ หรือมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง พ.ร.บ.ขยะแห่งชาติที่กำลังจัดทำขึ้นต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย

โดยราชการท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศต้องเร่งจัดทำแผนการเฝ้าระวังและดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้บ่อขยะชุมชน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อน ตลอดจนเร่งดำเนินสลายบ่อขยะที่กองเป็นภูเขาไว้โดยเร็ว รวมทั้งเร่งดำเนินการตามโรดแมปในการจัดการขยะมูลฝอยของรัฐบาลให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย

กรณีเกิดไฟไหม้บ่อขยะของเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี หมู่ 11 ต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ดังกล่าวไม่ใช่เกิดครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เช่น ในปี 2556 มีรายงานว่า เกิดเพลิงไหม้ 3 ครั้ง และในปี 57 เกิดเหตุเพลิงไหม้ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. และ 11 ก.พ.57 ซึ่งเป็นการเกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก

ดังนั้น เทศบาลตำบลกบินทร์บุรี ต้องมีโครงการเฝ้าระวังการเกิดไฟไหม้บ่อขยะดังกล่าวอย่างเข้มงวด หน่วยราชการต้องเข้าไปดูแลด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และไอระเหยสารอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งข่าวให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า พื้นที่ใดควรเข้าไปหรือไม่ รวมทั้งต้องเร่งหาสาเหตุว่าเกิดไฟไหม้เพราะอะไร

กำลังโหลดความคิดเห็น