พิษณุโลก - เกษตรกรชาวนาบางระกำครวญต้องระกำซ้ำอีก หลังหมดโครงการจำนำข้าว คนชวนรวมกลุ่มทำสัญญาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ขายตันละ 13,000 บาท พอถึงเวลาขนข้าวขายกลับถูกคนซื้อลอยแพกลางคัน อ้างข้าวมีกลิ่นรับซื้อไม่ได้
วันนี้ (19 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาบางระกำ จ.พิษณุโลก ประสบปัญหาปลูกข้าวขายไม่ได้เงิน จนต้องออกมารวมตัวประท้วงเรียกร้องหน้าลานตากข้าววังเป็ดเกษตรยนต์ ถนนพิษณุโลก-นครสวรรค์ หมู่ 2 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สุดสัปดาห์นี้อีกครั้ง หลังหมดยุคจำนำข้าวแล้วพากันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ที่นายอัมพร หรือนายธนะโชติ พลท้าว อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 1044 หมู่ 2 ต.นิคมพัฒนาบาระกำ อ.บางระกำ มาติดต่อให้ปลูก พร้อมรับประกันจะรับซื้อข้าวในราคาตันละ 13,000 บาท โดยได้เข้ามารับซื้อข้าวจากชาวนา
เมื่อสัญญาการเก็บเกี่ยวข้าวรอบแรกช่วงเดือนสิงหาคม 2557 และบอกว่าจะนำเงินมาจ่ายให้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ชาวนาก็รอเงินมานานกว่า 5 เดือน นายอัมพรก็ไม่นำเงินจากจ่ายให้ชาวนา จนกระทั่งชาวนาติดต่อให้โรงสีมารับซื้อข้าวแต่ก็ยังไม่สามารถขายข้าวได้อีก ชาวนาจึงรวมตัวมาเรียกร้องเพื่อขอข้าวไปจำหน่ายให้โรงสีเพราะต้องการเงินไปใช้หนี้สิน
นายวินัย ครุธพาหะ อายุ 45 ปี ชาวนา ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนได้รับการเชิญชวนจากนายอัมพรให้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ที่สัญญาว่าจะรับซื้อในราคาเกวียนละ 13,000 บาท ตนเห็นว่าราคาสูง ขณะที่ราคาข้าวขาว ปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 5,000-5,500 บาท จึงได้ตัดสินใจปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ในเนื้อที่ 65 ไร่ ได้ข้าวขายให้นายอัมพร รวม 16 ตัน แต่เมื่อมาฝากขายบอกจะได้เงินภายใน 1 สัปดาห์ แต่จนถึงปัจจุบันนานกว่า 5 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้รับเงิน
ต่อมานายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล ปลัดจังหวัดพิษณุโลก, นายดิเรก ยิ้มห้อย เกษตรอำเภอบางระกำ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมารับฟังปัญหาจากชาวนา พร้อมเชิญนายอัมพร มาประชุมร่วมด้วย
เบื้องต้นทราบว่าชาวนาดังกล่าวได้นำข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี รวม 635 ตัน ขายให้นายอัมพรตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้ โดยนำข้าวมาตากและเก็บรักษาไว้ที่ลานตากข้าววังเป็ดเกษตรยนต์ของนายเชาว์ ยาประเสริฐ
นายอัมพรกล่าวว่า ตนได้เริ่มทดลองปลูกข้าวไรซ์เบอ์รีมาก่อน มารู้จัก ดร.รณวฤทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เข้ามาแนะนำการปลูกข้าวจนได้ผลสำเร็จ จากนั้น ดร.รณวฤทธิ์ก็สั่งซื้อข้าวจากตน ซึ่งเมื่อปีที่ 2557 ก็ทำผลผลิตและขายข้าวได้ราคาดี จากนั้น ดร.รณวฤทธิ์ก็บอกว่ามีออเดอร์ข้าวให้ตนปลูก 3,000 ไร่ ซึ่งตนเห็นว่าทำคนเดียวไม่ได้แน่ จึงได้รวมกลุ่มขึ้น และทำสัญญากับทางกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางระกำว่าจะรับซื้อข้าวไรซ์เบอร์รีในราคา 13,000 บาทต่อตัน
เมื่อถึงเวลากลุ่มเกษตรกรที่ตนทำสัญญาไว้ก็เริ่มนำข้าวมาส่งให้ตน ตนจึงได้ติดต่อกับนายเชาว์ เจ้าของลานไว้ให้ช่วยเก็บ-ตากข้าว จากนั้นจะนำไปขายให้กับ ดร.รณวฤทธิ์ เมื่อติดต่อไป ดร.รณวฤทธิ์กลับบ่ายเบี่ยงปฏิเสธและบอกว่าข้าวที่ส่งไปมีกลิ่นเหม็น รับไม่ได้ ตนรู้สึกตกใจก็หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้พยายายามติดต่อผู้ซื้อรายใหม่แต่ก็ไม่สำเร็จ ได้แต่พยายามหาผู้ซื้อมารับซื้อข้าวไรซ์เบอร์รี ทางกลุ่มเกษตรกรก็มาทวงสัญญา เบื้องต้นก็ได้นำข้าวบางส่วนไปขายให้กับผู้ซื้อ 52 ตัน 970 กิโลกรัม แต่ที่เหลือจำนวนมากยังหาตลาดไม่ได้
นายเชาว์ เจ้าของลานตากข้าว กล่าวว่า ตนได้รับการติดต่อจากนายอัมพร ว่าจะนำข้าวไรซ์เบอรี่ของเกษตรกรมาฝากเก็บและช่วยตากข้าวให้เรียบร้อย ซึ่งเบื้องต้นมีเกษตรกรนำข้าวมาฝากทั้งสิ้น 635 ตัน และนายอัมพรได้มาเอาออกจากโกดังไป 52 ตันกับอีก 970 กิโลกรัม
นายเชาว์บอกว่า เคยเตือนนายอัมพรแล้วว่า การรับซื้อข้าวสดในราคา 13,000 บาท เป็นไปไม่ได้ มีแต่ขาดทุน จนมาเกิดปัญหา อีกทั้งข้าวที่นำมาฝากขายเป็นข้าวสด เมื่อนำมาตากแห้ง น้ำหนักที่ชั่งไว้ย่อมขาดหายไป ทางกลุ่มเกษตรกรต้องยอมรับว่า เมื่อขายข้าว จะต้องเป็นข้าวแห้ง และหักจากน้ำหนักที่หายไปด้วย
ในเบื้องต้นทางกลุ่มเกษตรยอมรับโดยให้ทางลานตากข้าวชั่งน้ำหนักข้าวที่เหลือในปัจจุบัน โดยจะหักจากน้ำหนักข้าวสดที่นำมาชั่งตอนแรกประมาณ 30-35% และจะจำหน่ายให้กับผู้ที่มารับซื้อในราคา 11,000 บาท ซึ่งได้รับการติดต่อมาแล้ว
ด้านนายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่นายอัมพรไปทำสัญญาว่าจะรับซื้อข้าวไรซ์เบอร์รีในราคา ละ 13,000 บาท แต่เมื่อไม่สามารถขายได้ อีกทั้งเกษตรกรก็ไม่ยอม ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหา เบื้องต้นก็ได้มีการตกลงกับกลุ่มเกษตรกรที่มาชุมนุมว่า ทุกวันนี้ข้าวที่เก็บไว้เป็นข้าวแห้งแล้ว ต้องชั่งใหม่ หักจากน้ำหนักข้าวสดว่าหายไปเท่าใด ซึ่งเบื้องต้นน่าหายไปประมาณ 35% จากนั้นก็จะได้ขายข้าวที่เหลือให้แก่ผู้ที่มารับซื้อในราคาเกวียนละ 11,000 บาท ขณะนี้มีผู้มารับซื้อไปแล้ว 100 ตัน และจะรับซื้อเพิ่มอีก 100 ตัน ส่วนข้าวอีก 52 ตันกับ 970 กก. ที่นายอัมพรนำออกไปก็ต้องติดตาม
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจกับชาวนาที่นำข้าวมาฝากขายกับนายอัมพร ให้เข้าใจตรงกันทั้งหมดก่อน โดยให้เกษตรอำเภอบางระกำนัดประชุมกับชาวนาทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมทั้งจะได้ให้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมกับทางจังหวัดพิษณุโลก การค้าภายใน เกษตรจังหวัด และพาณิชย์ เพื่อหาทางช่วยเหลือ และหาวิธีการขายข้าวที่ยังเหลือให้หมดไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ชาวนาสุโขทัย ชาวนา อ.พรหมพิราม พิษณุโลก ฯลฯ ได้เรียกร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม และดีเอสไอ ลักษณะเดียวกันคือถูกหลอกให้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี โดยมีบริษัทเอกชนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์แก่ชาวนาและไม่ยอมรับซื้อคืนตามสัญญาเช่นกัน