ตาก - รัฐมนตรีสาธารณสุข ยกคณะลงตรวจโรงพยาบาลชายแดนตาก พบ 5 รพ.รับภาระดูแลผู้ป่วยไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่มีหลักประกันสุขภาพเพียบ ล่าสุด ปี 57 แบกค่ารักษากว่า 1.2 หมื่นราย รวม 110 ล้านบาท เผย รพ.แม่สอด เจอไปกว่า 80 ล้าน จนขาดสภาพคล่อง แถมยังมีโรคติดต่อเพียบ
ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรงวสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ และคณะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อรับฟังการนำเสนองานสาธารณสุขชายแดนของจังหวัดต การดำเนินงานจัดบริการของโรงพยาบาลแม่สอด และปัญหาโรคติดต่อตามแนวชายแดนไทย-พม่า
ศาสตราจารย์รัชตะ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาหลักประกันสุขภาพบุคคลที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย แต่มีปัญหาทางสถานะ และสิทธิ ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เจ็บป่วยก็มักไม่มีเงินรักษา รวมทั้งไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น หากเป็นโรคติดต่ออาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ชุมชนได้ง่าย
ทั้งยังทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระค่ารักษาที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จำนวนมหาศาล เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเป็นมิติด้านสังคมที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้พ้นจากความเจ็บป่วยนั้นต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด
ซึ่งโรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอชายแดนในจังหวัดตาก มี 5 แห่ง คือ แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด พบพระ และอุ้มผาง ซึ่งเป็น รพ.ทั่วไปขนาด 420 เตียง เฉพาะที่ อ.แม่สอด ขณะนี้มีต่างด้าวกะเหรี่ยง พม่าอาศัยอยู่ 130,199 คน มากกว่าคนไทยร้อยละ 8 แต่มีการเคลื่อนย้ายเข้าออกปีละนับล้านราย ส่วนอีก 4 อำเภอ มีต่างด้าวอยู่ 118,036 คน
โดยโรงพยาบาลทุกแห่งมีภาระต้องดูแลคนต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ได้แก่ ชาวไทยภูเขา คนไทยพลัดถิ่น คนพม่าที่เข้ามาอยู่เมืองไทยหลายสิบปีแล้ว แต่มีเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้นที่มีหลักประกันสุขภาพ ที่เหลือฐานะยากจนมาก ไม่มีเงินซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข
ศาสตราจารย์รัชตะ กล่าวว่า ล่าสุดในปีที่ผ่านมา มีต่างด้าวนอนรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง รวม 12,353 ราย แยกเป็น รพ.แม่สอด ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยในทั้งหมด รพ.อุ้มผาง ร้อยละ 60 รพ.ท่าสองยาง ร้อยละ 30-40 รวมค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ ต้องจ่ายในลักษณะสังคมสงเคราะห์ถึง 110 ล้านบาท เฉพาะที่ รพ.แม่สอด ต้องจ่ายไป 48 ล้านบาท จนเกิดวิกฤตทางการเงิน ขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วยอื่นๆ ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสถานการณ์โรคติดต่อตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่พบ คือ มาลาเรีย แต่แนวโน้มผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ จากปี 2557 พบผู้ป่วย 6,208 ราย เป็นต่างด้าวร้อยละ 60 เนื่องจากมีการตั้งหน่วยค้นหา และรักษามาลาเรียในหมู่บ้านฝั่งไทย 70 แห่ง และฝั่งพม่า 700 แห่ง ซึ่งหากพบผู้ป่วยก็จะให้การรักษาฟรีทันทีภายใน 10 นาที ตัวเชื้อหลักเป็นพลาสโมเดียมไวแวกซ์ ร้อยละ 68 ซึ่งทำให้เกิดไข้กลับซ้ำ หรือที่เรียกว่าสามวันดีสี่วันไข้ นอกจากนี้ ยังพบวัณโรค โรคคอตีบ โรคเท้าช้าง โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
โดยเฉพาะวัณโรค มีลักษณะพิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่ปี 2550-2557 พบผู้ป่วย 2,592 ราย ร้อยละ 60 เป็นชาวพม่า เป็นผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนาน 62 ราย เป็นคนไทย 13 ราย พม่า 49 ราย
ส่วนผลการตรวจสุขภาพชาวพม่าที่มาใช้แรงงาน 50,000 ราย พบผิดปกติประมาณร้อยละ 8 โดยพบว่าร้อยละ 95 ผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติ พบเชื้อซิฟิลิส 164 ราย เท้าช้าง 2 ราย และตั้งครรภ์ 958 ราย จึงต้องเร่งดำเนินการควบคุม และรักษาคนไข้ทุกราย ทุกเชื้อชาติ ทุกสัญชาติ