ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัญหาร่มเตียงเมืองพัทยาส่อแววไม่จบ หลังผู้ประกอบการกว่า 30 ราย ร้องไม่ได้ความเป็นธรรมในการจัดระเบียบชายหาด ระบุเป็นเจ้าของกิจการตัวจริงนอกจากถูกลดขนาด ยังถูกจัดสรรพื้นที่ทำกินที่ไม่เหมาะสม ผิดกับผู้ละเมิดกฎที่ถูกปรับยึดแต่ได้รับการเยียวยากลับได้พื้นที่สร้างรายได้ ขณะที่ปัญหาการเช่ากรรมสิทธิ์ยังระบาดหนัก
จากกรณีที่ภาครัฐได้กำหนดนโยบายการการจัดระเบียบผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาดเมืองพัทยา และจอมเทียน จ.ชลบุรี อย่างเป็นทางการ ด้วยการลดขนาดพื้นที่ทำกิน พร้อมจัดสรรตำแหน่งประกอบการใหม่สำหรับผู้ประกอบการชายหาดเมืองพัทยา จำนวน 120 ราย จากพื้นที่ทำกิน 269 ล็อก โดยในส่วนของชายหาดจอมเทียนมีผู้ประกอบการ 251 ราย จากพื้นที่ทำกิน 453 ล็อก ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพุธที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา
ล่าสุด กลุ่มผู้ประกอบการชายหาดพัทยาตั้งแต่ช่วงบริเวณปากซอย 13/1 ถึงปากซอย 13/3 รวมจำนวนกว่า 30 รายได้รวมตัวเข้าร้องขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาการจัดระเบียบร่มเตียงดังกล่าว โดยระบุว่า การจัดระเบียบครั้งนี้ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการบางส่วน
โดยเฉพาะผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ถือครองอย่างถูกต้องมาเป็นเวลานาน เนื่องจากถูกจัดสรรพื้นที่ทำกินที่ไม่เหมาะสมให้ ขณะที่ผ็เข้าข่ายการกระทำผิด และถูกยึดพื้นที่คืนไปก่อนหน้านี้กลับได้รับพื้นที่ทำกินที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ เกิดจากความผิดพลาดของคณะทำงานที่จัดระเบียบโดยไม่รับทราบข้อมูลที่แท้จริง
นางพรรณี ตันงาม ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบระบุว่า การจัดระเบียบชายหาดถือเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นเพื่อคงสภาพแหล่งท่องเที่ยวซึ่งผู้ประกอบการทุกคนก็เห็นชอบด้วย จึงยินยอมให้มีการปรับลดขนาดพื้นที่ และปรับเปลี่ยนจุดทำกินเพื่อความเหมาะสม แต่การโยกย้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่มีข้อมูลและดูจากสภาพความเป็นจริงของชายหาดทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ช่วงพัทยาใต้ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหากว่า 30 ราย
ทั้งนี้ เพราะการโยกย้ายดังกล่าวจับมาลงในจุดที่ไม่สามารถประกอบการได้ ด้วยชายหาดมีพื้นที่คับแคบ อีกทั้งจะเป็นจุดที่น้ำทะเลท่วมถึงจนไม่สามารถทำกินในช่วงเช้าได้ ต้องรอระยะเวลาจนกว้าน้ำจะลงซึ่งก็กินเวลาไปถึงช่วงเที่ยง จนทำให้ลูกค้าไม่นิยมมาใช้บริการ
นอกจากนี้ ในช่วงพัทยาใต้ยังเป็นจุดเดียวไม่มีการเปิดพื้นที่ช่องว่างให้นักท่องเที่ยว กลับมีการนำผู้ประกอบการมาจับยัดลงไปบนชายหาดอย่างหนาแน่น หลายจุดบังคับให้ไปทำกินช่วงทางลาดคนพิการ ตู้ไฟฟ้าสาธารณะ แม้แต่จุดที่มีสายไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ที่เมืองพัทยาปล่อยปละละเลยจนสายไฟโผล่พ้นชายหาดขึ้นมา ซึ่งหวั่นเกรงอันตรายจากไฟฟ้าแรงสูงก็ยังให้มาประกอบการได้
ขณะที่ นางรัตนา ค้าขาย ผู้ประกอบการอีกรายระบุว่า ทำกินมานับสิบปีช่วงบริเวณปากซอย 12 โดยการจัดะระเบียบครั้งนี้ก็ยินยอมทำตาม ทั้งการปรับลดขนาด และการโยกย้ายที่ทำกิน แต่ปรากฏว่า การโยกย้ายครั้งนี้กลับไม่ถูกเลื่อนไปตามล็อกตามรูปแบบเดิม กลับจัดให้กระโดดข้ามล็อกอื่นๆ แล้วจับโยกให้มาทำกินตรงช่วงหน้าห้างรอยัลการ์เด้น ซึ่งเป็นจุดทางลง และทางลาด
อีกทั้งยังเป็นทางน้ำไหลจนไม่สามารถทำกินได้ ขณะที่พื้นที่ดั้งเดิมที่ประกอบการนั้นทางรัฐกลับไปให้ผู้ประกอบการอีกรายซึ่งเข้าข่ายการทำผิดระเบียบด้วยการให้เช่าพื้นที่ทำกินซึ่งถูกยึดพื้นที่คืนไปก่อนหน้านี้ได้รับการเยียวยา และให้มีประกอบการทำกินแทน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ที่มีการยึดพื้นที่คืนได้ระบุไว้ว่า การเยียวยาความเดือดร้อนนั้นจะคืนพื้นที่ทำกินให้แค่ 1 ล็อกต่อ 1 ราย และไปอยู่ในช่วงพื้นที่ท้ายหาด ซึ่งการปฏิบัติไม่ตรงตามที่ระบุไว้แต่อย่างใด
ด้าน นางนุช บุญกล่ำ ผู้ประกอบการบริเวณหน้าร้านพิซซาคอมปานี ระบุว่า การจัดระเบียบครั้งนี้จัดเปลี่ยนผังมา 3-4 ครั้ง ไม่มีความชัดเจน จนกระทั่งล่าสุด ผังที่นำมาปฏิบัติใช้ผู้ประกอบการกลับได้รับประ โยชน์เพียงไม่กี่ราย ขณะที่ช่วงพัทยาใต้ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของกิจการตัวจริงที่ทำกินมานานหลายสิบปีได้รับผลกระทบ จึงมองว่าไม่ถูกต้องที่สำคัญปัจจุบันนโยบายการห้ามเช่า ขาย หรือเซ้งกิจการชายหาดกันนั้นก็เป็นเพียงนโยบาย ขณะที่ข้อเท็จจริงในทุกวันนี้ยังมีผู้เช่าพื้นที่ร่มเตียงอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการแจ้งเบาะแสไปก็ระบุว่าให้ไปหาหลักฐานมาให้ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยากให้ภาครัฐหันมาสนใจ และเข้ามากำกับดูแลและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการบางส่วน และประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ทั้งนี้ จึงอยากเสนอให้มีการจับสลากเพื่อสับเปลี่ยนพื้นที่ทำกินตลอดแนวชายหาดปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเหมือนชายหาดบางแสนที่ทำอยู่ในทุกวันนี้