xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวใหม่ “แม่สอด” ชุมทางอันดามัน-อินโดจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมือง“แม่สอด” กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รัฐบาล คสช.ดันพื้นที่เกือบ 9 แสนไร่ ครอบคลุม 14 ตำบล 3 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก เดินเครื่อง 1 ใน 5 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วางกรอบให้สิทธิประโยชน์ เงินทุน เปิดรับแรงงานต่างด้าวหลากรูปแบบ พร้อมสารพัดโครงการใหญ่ เปลี่ยนโฉม “แม่สอด” เป็นชุมทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ EWEC เชื่อมอันดามัน-อินโดจีน ต่อเนื่องไปถึงยุโรป

1 ม.ค.2558 ถือเป็นจุดเริ่มต้น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายทั่วประเทศ ทั้งตราด สระแก้ว สงขลา มุกดาหาร และตาก ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 72/2557 ลงวันที่ 19 มิ.ย.2557 ครั้งที่ 2/2557

แต่สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตากนั้น 1 ม.ค.2558 กล่าวได้ว่า เป็น จุดที่จะเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง
เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 14 ตำบล 886,875 ไร่ (1,419 ตร.กม.) ของ อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด ที่ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East - West Economic Corridor ;EWEC) เชื่อมทะเลจีนใต้-เวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า ต่อเนื่องไปถึงบังกลาเทศ-อินเดีย-ยุโรป

หลังจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา เคยพยายามผลักดันให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอดขึ้นมาคู่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ประเทศพม่า มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

และ 19 ต.ค.2547 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น ได้มีมติให้ตั้ง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนพิเศษ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้า การลงทุน ที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้น ตามโครงการ EWEC รวมถึงกรอบความร่วมมือในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา และแม่น้ำโขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ซึ่งมีไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา และกรอบ BIMSTEC (ไทย พม่า อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และศรีลังกา) เป็นแรงผลักดัน

กระทั่ง 6 ต.ค.52 ครม.ก็มีมติอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เนื่องจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 เชื่อมแม่สอด-เมียวดี มีปัญหาเนื่องจากตอม่อ ถูกกระแสน้ำพัด และได้รับผลกระทบจากการหักเหของรถบรรทุก เพื่อเปลี่ยนเลนกลางสะพาน ทำให้คอสะพานเคลื่อน ไม่สามารถรองรับรถบรรทุกหนักได้ รวมถึงอนุมัติการกันพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อสร้างเป็นคลังสินค้า-ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service; OSS)

จากนั้นราวกลางเดือน ธ.ค.2552 นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในขณะนั้น) พร้อมคณะ ได้เดินทางเยือนพม่า และหารือความร่วมมือในเรื่องการก่อสร้างสะพาน มิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 การพัฒนาเส้นทางคมนาคม การขนส่ง ลอจิสติกส์ และการส่งเสริมการลงทุน กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของพม่า

รวมถึงแนวทางการพัฒนาเส้นทาง New Trade Lane 4 สายแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก-เมาะละแหม่ง เชื่อมต่อ EWEC
การปรับโฉมครั้งนี้  เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่ศูนย์กลาง ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ EWEC เชื่อมอันดามัน-อินโดจีน ต่อเนื่องไปถึงยุโรป
ตามมาด้วยการชี้ขาดจุดก่อสร้างสะพาน เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2553 ที่กำหนดจุดก่อสร้างที่ท้ายบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด พร้อมกับกันพื้นที่อีกกว่า 5,000 ไร่ ขึ้นไปทางเหนือที่เป็นป่าเสื่อมโทรม รองรับโครงการต่อเนื่อง ทั้งคลังสินค้า และ OSS ตลอดจนรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

จากพื้นที่ท้ายบ้านวังตะเคียน ฝั่งไทย ก็จะมีโครงการตัดถนน 4 เลน เชื่อมเข้ากับถนนตาก-แม่สอด และทางหลวงพิเศษหมายเลข 12 ต่อไป ส่วนฝั่งพม่า ก็จะมีถนนอ้อมตัวเมืองเมียวดี ตรงเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawadi Trade Zone) ที่อยู่ห่างไปประมาณ 11 กม.

ขณะที่ภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ได้พยายามผลักดันโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 โครงการขยายรันเวย์ของสนามบินแม่สอดเพิ่มประมาณ 600 เมตร เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่ลงจอดได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง โดยจุดแรกก่อสร้างแล้วจากเมียวดี ไปเชิงเขาตะนาวศรี 18 กม. งบประมาณ 120 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 จากเชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรก ระยะทาง 40 กม. รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ วงเงิน 827 ล้านบาท และโครงการพัฒนาถนน 4 เลนตาก-แม่สอด ตลอดสาย เป็นต้น

แต่จากนั้นเป็นต้นมา “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด” ก็ยังดูเหมือนนิ่งสนิท

ทั้งที่ “แม่สอด” ที่เชื่อมต่อกับ “เมียวดี” ของพม่า เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการค้าของภูมิภาคนี้ที่มีมูลค่าการค้าผ่านชายแดนสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี และด้วยภูมิรัฐศาสตร์ แม่สอดจะเป็นประตูสำคัญเชื่อมระหว่างอันดามันกับอินโดจีน เป็นศูนย์กลางอาเซียน เชื่อมอาเซียน-ยุโรป และอาจกลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกอีกด้วย
การพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป แต่ สภาพชุมชน ราคาที่ดิน มีการเปลี่ยนแปลงด้วย
อย่างไรก็ตาม หลัง คสช.เข้ายึดกุมอำนาจการบริหารประเทศ และขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนดังกล่าว ผ่าน กนพ.ทำให้ “แม่สอด” และพื้นที่ชายแดนตาก ถูกจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง

โดยล่าสุด กนพ.เห็นชอบในกรอบสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบให้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุด หรือใกล้เคียงกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กรณีทั่วไป รวมทั้งอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในลักษณะไป-กลับ ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งโครงการใหม่ หรือขยาย ทั้งในและนอกเขตพัฒนาอุตสาหกรรม ใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ทางภาษีเหมือนเขต 3 รวมทั้งพิจารณาอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมเป็นรายๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่โดยเร็ว

นอกจากนี้ เห็นชอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางมาตรการการเงินโดยรัฐจัดเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรนและค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1-20 ล้านบาทตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ในระยะแรกใช้พื้นที่ศูนย์ดำรงธรรมระดับจังหวัด หรืออำเภอ โดยสำนักงานจังหวัด หรือหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากร ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรระยะเร่งด่วน (ปี 2558-2559) โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการ และวงเงินให้ชัดเจน โดยให้จัดทำเป็นแผนการดำเนินงานในรายละเอียดโครงการรายปี ในระหว่างปีงบประมาณ 2557-2559 เพื่อเสนอ กนพ. ต่อไป

ด้านแรงงาน และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานสาธารณสุข และความมั่นคง เห็นชอบให้มีการจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้มาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในลักษณะไป-กลับ และให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน ซึ่งให้บริการเรื่องการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร การตรวจสุขภาพการประกันสุขภาพ และการคุ้มครองแรงงาน โดยให้ใช้รูปแบบของศูนย์บริการจดทะเบียนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ รวมทั้งมีแผนการฝึกอบรมฝีมือแรงงานไทยบริเวณชายแดนและ แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่สอดคล้องต่อความต้องการของภาคเอกชน

นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เตรียมตอกเสาเข็มหมุดแรกเพื่อก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (แม่สอด-เมียวดี) อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณท้ายบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมาณต้นปี 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีการวางแนวถนนที่จะเชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 เชื่อมต่อเข้ากับถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด ที่กำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้เสร็จสิ้นทันก่อนข้าสู่ AEC ในเดือนธ.ค.2558

ส่วนแนวคิดในการขุดเจาะอุโมงค์ ถนนสายตาก-นครแม่สอด ก็อาจจะมีการนำเสนอผลักดันต่อไป โดยวางไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ขุดอุโมงค์ตามแนวถนนเส้นทางเดิมบางจุดที่สำคัญ เช่น บริเวณขุดอุโมงค์ที่ดอยรวก ตัดผ่านไปยังบ้านแม่ละเมา เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยมาก 2.สร้างแนวถนนใหม่ทั้งหมด เป็นแบบเส้นทางตรง (ไม้บรรทัด) มีทั้งอุโมงค์ ขุดลอดภูเขา และสร้างสะพานบก ที่ผ่านเหว 3. อาจจะดำเนินโรงการขุดเจาะอุโมงค์ ทั้ง 2 รูปแบบ คือ ใช้ทั้ง 2 แนวเส้นทางแนวเดิมและตัดใหม่ทั้งหมด

ขณะที่โครงการขยายรันเวย์ท่าอากาศยานแม่สอดเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินขนาดใหญ่นั้น ล่าสุด กำลังอยู่ขั้นตอนการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้าน 38 ราย 39 แปลง รวมเนื้อที่ 303 ไร่

แต่หลัง คสช.และรัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ราคาที่ดินพื้นที่ชายแดนแม่สอด ขยับสูงขึ้นเป็นรายชั่วโมง จนล่าสุด โดยทำเลติดถนนใหญ่ราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 5-15 ล้านบาทแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น