เชียงราย - “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินชื่อดังผู้สร้างวัดร่องขุ่น ขึ้นเวทีร่วมรำลึก “ครูจูหลิง” เหยื่อเหตุรุนแรง 3 จชต. จวกรัฐทุกระดับทิ้งขว้าง “ผู้เสียสละ” บอกผ่านไปไม่กี่ปีวันนี้มีแค่หอศิลป์เล็กๆ ที่ ร.ร.บ้านปงน้อย ไร้งบสนับสนุน อำเภอบ้านเกิดต้องวิ่งขอเงินเอกชนจัดงานรำลึกได้ปีละวัน
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงรายแจ้งว่า เนื่องในวันครบรอบการเสียชีวิตของ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล หรือครูจูหลิง ชาว ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตขณะทำหน้าที่สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2550 ทางอำเภอดอยหลวง จ.เชียงราย ได้จัดงาน “วันรำลึกและสืบสานตำนานศิลป์ครูจูหลิง ปงกันมูล ประจำปี 2558” ขึ้น ณ ลานศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงราย
โดยได้จัดนิทรรศการครูจูหลิง และการประกวดวาดภาพรำลึกถึงครูจูหลิง ทั้งในระดับประชาชนทั่วไปและระดับนักเรียน รวมทั้งเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ศิลปินและศิลปะกับสังคม” และการแสดงของนักเรียน ซึ่งมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย ที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมด้วย
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า ครูจูหลิงถือเป็นศิลปินที่สร้างผลงานภาพวาด และเมื่อได้เป็นครูแล้วก็เลือกที่จะเดินทางจากบ้านที่ อ.ดอยหลวง ไปสอนหนังสือที่ภาคใต้ ซึ่งก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่ามีอันตราย แต่ด้วยความรักชาติและรักในศิลปะ จึงต้องการไปสอนนักเรียน กระทั่งถูกคนทำร้ายจนเสียชีวิต จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่ได้รับการยกย่องอย่างมากดังกล่าวไม่ได้มาจากการที่เป็นคนวาดภาพเก่ง หรือสอนวิชาศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เพราะเป็นผู้เสียสละตัวเอง
ในต่างประเทศเขาจะถือว่าคนเช่นนี้เป็นวีรบุรุษ วีรสตรี และรัฐบาลทั้งระดับชาติและท้องถิ่นจะให้การสนับสนุนอย่างมาก แม้แต่ตามหมู่บ้านชุมชนต่างๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของวีรบุรุษวีรสตรีเหล่านี้จะสร้างสิ่งต่างๆ ให้เป็นอนุสรณ์ และจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้ผู้คนได้ร่วมรำลึกถึง
แต่ประเทศไทยแตกต่างไปมาก เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป การสนับสนุนของภาครัฐในอดีตลดน้อยลง จนท้ายที่สุดก็จะค่อยๆ ห่างหายไป กรณีของ “ครูจูหลิง” ก็เหลือเพียงหอศิลป์เล็กๆ อยู่ที่โรงเรียนบ้านปงน้อย งบประมาณก็แทบจะไม่มี การจัดงานก็ทำกันปีละครั้ง ครั้งละ 1 วัน ถ้ามีนายอำเภอดีก็จะจัดให้ดีขึ้นหน่อย แต่ถ้าเจอคนที่ขี้เกียจ หรือคนที่เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยก็จะไม่สนใจ แม้แต่การจัดงานในครั้งนี้ทางนายอำเภอต้องไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ ซึ่งทำได้ปีละ 1 วันก็ถือว่าดีมากแล้ว
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า แม้แต่บรรดาศิลปินแห่งชาติเมื่อสิ้นไปก็แทบจะถูกลืม จึงต้องอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคนในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก ต้องพยายามระดมกำลังกันสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้วีรบุรุษของตัวเอง อย่าไปรอหน่วยงานภาครัฐ แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเขาไม่ใช่คนในพื้นที่ เมื่อถูกย้ายมาก็มีอันต้องย้ายออกไป ส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ แต่ก็เห็นอยู่ว่านำเงินไปใช้สารพัดอย่างมากมาย โดยไม่เห็นแก่คุณค่าและสร้างประโยชน์ให้พื้นที่ที่วีรบุรุษอาศัยอยู่เลย
“อย่างบ้านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่ล่วงลับไป สร้างด้วยเงิน 500-600 ล้านบาท หรือวัดร่องขุ่นที่ผมสร้างใช้งบประมาณ 1,120 ล้านบาท ใช้เงินตัวเองหมด สร้างเงินเข้าจังหวัดอย่างมหาศาล แต่กลับไม่รู้จักสำนึก ทั้งๆ ที่ศิลปะเป็นความยิ่งใหญ่ ประเทศไทยเราไม่มีทางสู้เรื่องอื่นๆ ในโลกได้ แต่มีเพียงศิลปะ หรือความสุนทรียภาพเท่านั้นที่ประเทศไทยเราสู้ได้”
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ตนขอยกตัวอย่างการจะทำให้รู้คุณค่าของครูจูหลิงว่า ควรจะทำผลงานทางศิลปะแบบสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นที่ อ.ดอยหลวง ผู้คนก็จะแห่กันไปชม จนเกิดประโยชน์ทางคุณค่า และด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งควรจัดให้ทุกโรงเรียนในจังหวัดประกวดภาพครูจูหลิงให้ยิ่งใหญ่ และนำมาให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อ ซึ่งจะเป็นการสานต่อศิลปะในเยาวชนเชียงรายด้วย แต่น่าเสียดายที่ผ่านมากลับไม่ฉกฉวยโอกาสกัน