น่าน - ผู้ว่าฯ น่านนำทีมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และป่าไม้กว่า 100 นาย เดินเท้ากว่า 3 ชม.เข้าตรวจพื้นที่รอยต่อ อช.แม่ยม-อช.ศรีน่าน และป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนขุน พบมอดไม้ลอบตัดไม้ยางนาอายุกว่า 100 ปีเหี้ยน แถมแปรรูปเป็นท่อน/แผ่นเหลี่ยมตามคำสั่งนายทุน
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผู้บังคับการ จทบ.น่าน, พ.อ.ชัชวาลย์ กุลกุศล รอง ผอ.กอ.รมน.จ.น่าน และ พ.ท.วัฒนา จันทร์ไพจิตต์ หัวหน้าชุดหน่วยข่าวกรอง กอ.รมน.จ.น่าน สนธิกำลังทหาร ฝ่ายปกครอง อ.เวียงสา ตำรวจ และป่าไม้กว่า 100 นายเข้าตรวจสอบการบุกรุกลักลอบตัดไม้หวงห้ามในพื้นที่บ้านนาก้า หมู่ 1 ต.ยาบหัวนา อ.เวียงสา จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ดอยสูงชันบริเวณรอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติ (อช.) แม่ยม อ.สอง จ.แพร่ อช.ศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนขุน
ตรวจสอบพบมีการลักลอบตัดไม้หวงห้ามกระจายถึง 3 จุด มีกองไม้แปรรูปหลายขนาด กว่า 500 แผ่น ทั้งยังพบร่องรอยการชักลากไม้ออกจากป่าไปแล้วบางส่วน และคาดว่าผู้กระทำความผิดจะไหวตัวหลบหนีไปได้ก่อนที่ชุดเจ้าหน้าที่จะตรวจพบ เนื่องจากพื้นที่เป็นดอยสูงชัน เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปด้วยความยากลำบากกว่า 3 ชั่วโมง และยังมีมวลชนบางส่วนเป็นต้นทางให้กลุ่มลักลอบตัดไม้ ซึ่งเคยเกิดกรณีมวลชนปิดล้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ชักลากไม้ของกลางออกจากป่ามาก่อนแล้ว
เมื่อตรวจสอบพื้นที่ทั้ง 3 จุดพบว่ามีการลักลอบตัดโค่นไม้ยางนา อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามกว่า 10 ต้น และมีการแปรรูปเป็นไม้ท่อน ขนาดหน้ากว้าง 1.25 ม. ยาว3-5 ม.จำนวนหลายท่อน และเป็นแผ่น/เหลี่ยม มีขนาดหน้ากว้าง 3-18 นิ้ว ยาว 3-5 เมตร หนา 2-8 นิ้ว จำนวนประมาณ 400-500 แผ่น/เหลี่ยม ซึ่งคาดว่าจะเป็นการแปรรูปตามคำสั่งนายทุน
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้วัดขนาดของต้นยางนาที่ถูกตัดโค่น พบว่าแต่ละต้นมีขนาดหน้ากว้าง 1.25 เมตร วงรอบลำต้น 4 เมตร ความสูงไม่ต่ำกว่า 30 เมตร คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ถูกโค่นมาประมาณไม่เกิน 2 เดือน
เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจนับและยึดไม้ยางของกลางบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ร่วมกับพนักงานสอบสวน สภ.เวียงสา เพื่อจะได้ติดตามหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ในข้อหาร่วมกันมีไม้ยางท่อนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปริมาตรไม้เกิน .20 ลูกบาศก์เมตร, ร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้มาตรา 7 พ.ศ. 2484 และจะนำไม้ของกลางไปเก็บรักษาที่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นน.7 (น้ำสา)
สำหรับป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนขุนยังเป็นป่าต้นน้ำที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า 233,818 ไร่ มีไม้หวงห้ามทั้งไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้ยาง และถือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการลักลอบตัดไม้หวงห้ามหลายครั้ง