xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจับมือ ปชช.หารือการทางพิเศษฯ หาทางออกโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่เสนอทางออกโครงการทางสายพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา หลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมาแล้วหลายเวที แต่ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ แนะสุดท้ายต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนเจ้าของพื้นที่

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจังหวัดชลบุรี ที่อาจได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการถูกโครงการทางสายพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา พาดผ่าน พร้อมด้วย ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ ได้เข้าพบ นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าการทางพิเศษฯ ได้มอบหมาย นายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการพร้อมเจ้าหน้าที่ และบริษัทที่ปรึกษาลุ่มบริษัทที่ปรึกษา

ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จํากัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อหารือ และรับฟังแนวเส้นทางที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวเส้นทางใหม่เป็นแนวที่ 8 ซึ่งแนวเส้นทางดังกล่าวจะมีผู้ที่อาจโดนเวนคืน 340 ราย โดยแนวเส้นทางจะเริ่มจากจุดต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถี บริเวณเทศบาลตำบลคลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี ยกระดับไปตามถนนสุขุมวิทหมายเลข 3 จนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรีแล้ว แนวสายทางจะยกระดับไปตามเกาะกลางทางเลี่ยงเมืองชลบุรีไปจนถึงทางแยกต่างระดับข้ามทางรถไฟที่ กม.ที่ 15 และยกระดับขนานไปในแนวด้านซ้ายทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี

โดยมีระยะห่างจากทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ประมาณ 100-500 เมตร ผ่านตำบลหนองข้างคอก ตำบลบางพระ ตำบลสุรศักดิ์ จนกระทั่งผ่านทางเข้าสวนเสือศรีราชา แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ข้ามทางหลวงมอร์เตอร์เวย์บริเวณแยกหนองยายบู่ เพื่อไปใช้แนวด้านขวาของทางหลวงมอร์เตอร์เวย์ และตัดผ่านเส้นทางเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง แนวสายทางช่วงนี้จะอยู่ระหว่างมอร์เตอร์เวย์ และทางหลวงเส้นสุขุมวิท ซึ่งจะตัดผ่านชุมชนจุกกระเฌอ และตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 36 ไปบรรจบทางหลวงมอเตอร์เวย์ก่อนเข้าสู่เมืองพัทยา

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนได้มีการตั้งคำถาม และเสนอทางออกเพื่อให้การทางพิเศษฯ นำไปพิจารณา และเตรียมการตอบสำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 ดังนี้

1.เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีโครงการด้านคมนาคมทางบกจำนวนมาก เช่น โครงการขยายทางหลวงมอเตอร์เวย์สาย 7 โครงการรถไฟรางคู่ ไปท่าเรือแหลมฉบัง โครงการทางหลวงมอเตอร์เวย์หนองคาย-ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นต้น

จึงขอให้การทางพิเศษฯพิจารณาถึงความจำเป็น ความเหมาะสมคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมเมื่อเทียบกับต้องเวนคืนที่ดิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณชุมชนจุกกระเฌอ เป็นชุมชนหนาแน่นมากอยู่ใกล้สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา มีราคาตลาดไร่ละเกือบ 10 ล้านบาท หากผ่านบริเวณดังกล่าวจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก

2.การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาว่าประชาชน และครอบครัวที่ต้องถูกเวนคืนทั้งที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้ที่เสียสละต่อประเทศชาติเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ใช้เส้นทางพิเศษสายนี้ จึงควรที่จะต้องชดเชยทั้งทางด้านทรัพย์สิน และทางด้านจิตใจโดยต้องใช้วิธีซื้อคืนในราคาตลาดปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ตลอดจนให้ใช้ทางด่วนสายนี้โดยไม่คิดเงิน เป็นต้น

3.ขอให้การทางพิเศษฯ ให้ข้อมูลแนวเส้นทางที่ชัดเจน และมีเหตุผลประกอบถึงการเลือกแนวสายทางดังกล่าว พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยนำข้อห่วงกังวลของประชาชนมาศึกษา และเสนอมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เมื่อทำการศึกษาแล้วพบว่า มีผลกระทบสูง หรือประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรดำเนินการก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนเจ้าของพื้นที่ด้วย

4.การทางพิเศษฯ และประชาชนในพื้นที่จะร่วมกันจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อีกครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 โดยการทางพิเศษฯ จะต้องนำเสนอแนวเส้นทางด่วนที่วิเคราะห์แล้วว่ามีผลกระทบต่อชุมชน และสังคมน้อยที่สุด รวมทั้งเสนอมาตรการป้องกันผลกระทบ และมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น