xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณสุข เขตฯ 10 ปฏิบัติการเชิงรุกแก้ปัญหาสุขภาพชาวอีสานล่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

  นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ อดีตผู้ตรวจราชการเขต 10กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เขตบริการสุขภาพที่ 10 ปฏิบัติการเชิงรุกเร่งแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน 5 จังหวัดภาคอีสานต่อเนื่อง เน้นการบริการที่ได้มาตรฐานทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูและคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งเป้าเป็นเขตสุขภาพที่แท้จริงของประชาชน

นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ อดีตผู้ตรวจราชการเขต 10กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 10 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชาชนในพื้นที่ ร่วมด้วยช่วยกันทั้งการจัดบริการ และบริหารร่วมภายใต้การนำของผู้บริหารทุกระดับในพื้นที่ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี และเข้มข้นมากขึ้นในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระบบครอบคลุม ทุกมิติ

ทั้งส่งเสริม, ป้องกัน, รักษา, ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภคผ่านกลไกต่างๆ ตั้งแต่หน่วยบริการใกล้บ้านให้ครอบคลุมตั้งแต่ปฐมภูมิ, ทุติยภูมิ และเชื่อมต่อตติยภูมิ ให้เบ็ดเสร็จในเขตบริการสุขภาพ และร่วมกับหน่วยบริการอื่นๆ ทางภาคสังคมเพื่อเป็นเขตสุขภาพที่แท้จริงของประชาชน ภายใต้เป้าหมายคือ การบริการที่ได้มาตรฐาน, การลดอัตราการเสียชีวิต, ลดอัตราการป่วย, ลดระยะเวลารอคอย และลดค่าใช้จ่าย

นพ.ทวีเกียรติกกล่าวต่อว่า การให้บริการเชิงรุกดังกล่าวส่งผลให้สัมฤทธิผลเป็นที่น่าพอใจตามเป้าหมาย คือ ด้านโรคมะเร็ง สามารถลดระยะเวลารอคอยการฉายแสงจาก 45 วัน เหลือ 20 วัน, สามารถให้ยาเคมีบำบัดได้ทุกโรงพยาบาลประจำจังหวัด, ลดระยะเวลารอคอยการให้สารไอโอดีน 131 ปริมาณสูงจาก 1 ปี เหลือ 7 วัน, มีการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นระบบครอบคลุมทั้งเขต เช่นบำบัดความเจ็บปวด, การให้อาหารและดูแลแผล

ขณะที่ด้านอุบัติเหตุ สามารถจัดระบบดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุอย่างรุนแรงลดอัตราการตายในกลุ่มนี้จาก 37.89% (2554) เป็น 18.66% (2556) ประกอบด้วย 1.ด้านหัวใจ เพิ่มการเข้าถึงของโรงพยาบาลต่างๆในการให้ยารักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ จาก 10 แห่ง (2556) เป็น 23 แห่ง (2557) จนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือ 10.57%) 2.ด้านยาเสพติด มีระบบบริหารจัดการให้ผู้ป่วยผ่านการบำบัด และได้รับการติดตามไม่กลับไปเสพซ้ำได้ถึง 89.19% (2557) สูงกว่าค่าเป้าหมาย 80%

3.ด้านการทำงานร่วมกันในพื้นที่ของระดับอำเภอโดยภาคสังคมร่วมกับการสาธารณสุข ได้สร้างการมีส่วนร่วม และพัฒนาจนถึงจิตอาสา และผู้ดูแลผู้ป่วยในชุมชน เพื่อการดูแลต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง มีภาวะแทรกซ้อนลดลง จาก 3.6% เป็น 1.7% โดยด้านทารกแรกเกิด สามารถลดอัตราการเสียชีวิตใน โรงพยาบาลของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ลงเหลือ 0.89% (2557) ดีกว่าค่าเป้าหมาย กว่า 2 เท่า

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันระหว่างจังหวัดภายในเขตและระหว่างเขตทำให้ผู้บริหารได้รับทราบปัญหาและตื่นตัวในการพัฒนา และทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของวิชาชีพต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นเครือข่ายวิชาการในเขตทำให้เกิดพลังในการพัฒนาและความสุขในการทำงาน



กำลังโหลดความคิดเห็น