xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาเพศภาวะอาเซียนฯ คึกคัก ชี้ละครไทยทำคนลาวมองการตบตีเป็นเรื่อง “ธรรมดา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - องค์กรเครือข่ายสตรีร่วมเวทีเสวนา “เพศภาวะในอาเซียน : ความรุนแรงและความหลัง” คึกคัก ตีแผ่ปัญหาหญิงลีซู ออกทำมาหากิน กลับถูกเรียก “ผู้หญิงหากิน” ขณะที่การตบตีกันในครอบครัวคนลาวถูกมองเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ตามละครไทย

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย.นี้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ร่วมกับภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มูลนิธิผู้หญิงกฎหมายและการพัฒนาชนบท ได้จัดเสวนาหัวข้อ “เพศภาวะในอาเซียน : ความรุนแรงและความหวัง” เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่ศูนย์สตรีศึกษาเชียงใหม่

โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ, มูลนิธิผู้หญิงกฎหมายและการพัฒนาชนบท และมีผู้สนใจที่เข้าร่วมในการเสวนาเกือบ 100 คน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนอย่างเต็มที่ของผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีเพศภาวะที่หลากหลาย ก่อนนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปหารือ-กำหนดยุทธศาสตร์ การปรับปรุง และพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ และขับเคลื่อนเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมที่คำนึงถึงสิทธิผู้หญิงกับหน่วยงานรัฐ-หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยในวันแรกมีการเสวนาโต๊ะกลม “จากในครัวถึงรั้วมหาวิทยาลัย” นั้น นางวิภา สีมี่ ตัวแทนจากเครือข่ายชนเผ่าแห่งประเทศไทย (ลีซู) ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่า ในชนเผ่าลีซู ถ้าผู้หญิงจะออกมาทำมาหากินช่วยเหลือครอบครัว ถือเป็นสิ่งที่ผิด เพราะในมุมมองของคนในชนเผ่า ผู้หญิงที่ออกมาช่วยเหลือครอบครัวถือว่า “เป็นผู้หญิงหากิน” และหัวหน้าครอบครัวจะโดนดูถูกว่าไม่สามารถดูแลครอบครัวของตนได้ 
 
และถ้าผู้หญิงคนนั้นตัดสินใจออกมาจากชนเผ่าแล้ว จะไม่สามารถกลับเข้าไปในชนเผ่าได้อีก จะไม่ได้มรดกของตนเองที่พ่อแม่ให้ไว้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว รวมถึงโดนกีดกันการเจอลูกของตนจากทางฝ่ายสามี ที่ไม่อยากให้ลูกได้ไปเจอกับแม่ที่โดนตีตราว่า “เป็นผู้หญิงหากิน”

ด้านนางหฤทัย บัวเขียว มหาบัณฑิต จากสาขาวิชาสตรีศึกษา มช. กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยพบเจอในประเทศลาว ปัญหาการตีกันในครอบครัวถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวในครอบครัว ซึ่งคนนอกไม่สามารถจะเข้าไปยุ่งได้

ส่วนภาวะความรุนแรงในครอบครัว เช่น การตบกัน ตีกัน เถียงกัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ตนเคยถามวัยรุ่นชาวลาวว่าทำไมถึงคิดว่าการตีกัน ตบกันถึงเป็นเรื่องธรรมดา วัยรุ่นชาวลาวบอกว่า “ได้ตัวอย่างมาจากละครไทย ที่การตบตีกันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา”

ขณะที่นางศุกาญน์ตา สุขไผ่ตา ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา กล่าวถึงความรุนแรงในการทำงาน (แรงงานข้ามชาติ) ว่า จากการลงไปในพื้นที่ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสมุทรสาคร พบว่าคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหากเป็นพื้นที่เชียงใหม่ก็จะเป็นชาวไทยใหญ่ โดยที่จะเข้ามาทำงานในด้านการก่อสร้างและอาศัยอยู่ตามแคมป์โครงการหมู่บ้านต่างๆ และชุมชน ที่จะเป็นที่รู้กันว่าชุมชนนั้นจะมีชนเผ่าของตนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ด้าน น.ส.อาภาณี มิตรทอง หัวหน้าศูนย์ญาณากร แหล่งเรียนรู้คนพิการ ได้แสดงทัศนะในหัวข้อ “ผู้หญิงพิการกับความรุนแรงในอาเซียน” ว่า ในประเด็นนี้จะไม่กล่าวถึงปัญหาผู้พิการหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือทำร้ายร่างกาย เพราะเกิดได้กับผู้หญิงทั้งที่พิการ และไม่พิการ

อย่างไรก็ตาม พบว่า 75% ของผู้พิการนั้นยังเผชิญความรุนแรงจากทั้งครอบครัวและสังคมจนไม่สามารถเยียวยา หรือฟื้นฟูตนเองจากการถูกกระทำความรุนแรงดังกล่าวด้วยตนเองได้ อีก 25% เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีการพัฒนาศักยภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงระดับตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้

ทั้งนี้ ผู้หญิงพิการต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมทั้งทางสังคม และสุขภาพหลายด้าน มีคุณภาพชีวิตที่ด้อยกว่าผู้หญิงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกละเมิดสิทธิ ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกระทำความรุนแรง มีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตสูง

น.ส.อาภาณีมองว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคนพิการด้วยกันเองน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยงานเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้หญิงพิการได้ดี เพราะมีความเข้าใจปัญหาเพื่อนคนพิการมากกว่า และในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ย.) นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศแล้ว กลุ่มเครือข่ายสตรียังจะร่วมกันแถลงถึง “ข้อเรียกร้องของสตรีเพื่อยุติความรุนแรง” ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น