xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรแปดริ้วรอดูท่าทีตลาดไข่ไก่หลังเปิดเออีซี ก่อนปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เมืองแปดริ้ว ระบุกระบวนการผลิตมีปัจจัยรอบด้านไม่แน่นอน เผยหลังการเปิดตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว มีทั้งส่วนที่ได้เปรียบ และเสียเปรียบจากเพื่อนบ้าน พร้อมรอดูท่าทีจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการก่อนปรับตัว ด้านปศุสัตว์เขต 2 แนะเกษตรกรทำมาตรฐานฟาร์มสร้างความเชื่อมั่นเป็นจุดขายเพื่อแข่งขัน



วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. นายสันติ วิโรจน์บริสุทธิ์ เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ส.สิริฟาร์ม ม.1 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศในอาเซียน หรือการเปิดตัวเป็นเออีซี รวมถึงแนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย ซึ่งในเรื่องของไข่ไก่นั้นก็ได้มีการเชื่อมโยงกันอยู่บ้างแล้ว

โดยจะมีทั้งข้อเสียเปรียบ และได้เปรียบจากเพื่อนบ้าน ซึ่งข้อที่เสียเปรียบเพื่อนบ้านนั้น เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน และสินค้าภาคเกษตรของเพื่อนบ้านยังมีราคาถูกกว่าเรามาก ส่วนข้อได้เปรียบของเกษตรกรเรา คือ ด้านประสิทธิภาพในการเลี้ยง และในด้านวิชาการ เช่น สัตวแพทย์ สัตวบาล ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า ส่วนเกษตรกรนั้นได้มีการปรับตัวกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมานี้ ที่ได้มีการเปลี่ยนระบบการเลี้ยงไก่ไข่ไปสู่ระบบเกษตรอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมีการทำฟาร์มเป็นไปในรูปแบบของเกษตรอุตสาหกรรม

โดยใช้ฐานความรู้จากนักวิชาการ และบริษัทคู่ค้าภายใน ซึ่งคิดว่าถ้าเป็นในเรื่องของการผลิตไข่ไก่นั้นเราไม่เป็นรองใครในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีสิ่งที่น่ากังวลคือ สินค้าที่จะไปมาหาสู่กัน โดยเฉพาะด้านการส่งออกนั้นคิดว่าเรายังมีปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนด้านการผลิตที่สูงกว่า ในขณะที่เพื่อนบ้านของเรานั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงเป็นข้อกังวนกันว่า เพื่อนบ้านของเราจะนำไข่ไก่ราคาถูกเข้ามาจำหน่ายยังภายในประเทศเรา

แต่หากเราผลิตไข่ไก่ได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ จากการที่ได้ไปดูงานในประเทศต่างๆ มาแล้วนั้นกลับพบว่า ทางประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นก็ยังคงเกรงว่าไข่ไก่ของเรานั้นจะไหลไปยังประเทศของเขามากกว่า เกษตรกรของเขาก็จะเดือดร้อนเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างมีความกังวลซึ่งกันและกันอยู่ จึงยังคงต้องเรียนรู้กันไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน

สำหรับโอกาสในการผลิตเพื่อส่งออกนั้น ตนมองว่าประเทศมาเลเซียนั้นมีโอกาสในการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดของผู้บริโภคขนาดใหญ่ และอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าเรา และมีการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่ามาทางประเทศเรา

ส่วนตลาดทางด้านประเทศที่มีชายแดนติดกับเรา ทั้งกัมพูชา ลาว พม่านั้น คาดว่ากำลังซื้อมีไม่มาก อีกทั้งยังมีนักลงทุนไทย ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้เข้าไปลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศเหล่านี้กันบ้างแล้ว เราจึงได้ประโยชน์ทางการตลาดไข่ไก่จากประเทศเหล่านี้ไม่มาก แต่น่าจะมีข้อดีในเรื่องของวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และปลายข้าว เพราะสินค้าเหล่านี้จากเพื่อนบ้านมีราคาไม่สูงมากนัก เราจึงอาจจะได้ประโยชน์จากสินค้าเหล่านี้จากเพื่อนบ้านมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงมา มากกว่าที่จะไปมุ่งหวังส่งไข่ไก่ออกไปขาย

แต่อย่างไรก็ตาม ไข่ไก่นั้นเป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นลงไม่แน่นอน ซึ่งก็อาจจะมีการส่งออกไปยังเพื่อนบ้าน และอาจจะมีของจากเพื่อนบ้านเข้ามายังเรา เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติของการค้าขายชายแดน เช่น ในช่วงเวลาที่ไข่ไก่ในประเทศของเราแพง หรือถึงฤดูที่ไข่ไก่เราขาดแคลนจากตลาด เช่น ในฤดูร้อนในบ้านเรานั้นอาจขาดแคลนไข่ไก่ แต่ปรากฏว่า ที่มาเลเซียนั้นเป็นฤดูฝน หรืออากาศของเขาดีไก่ไข่ก็จะออกไข่ดี จนปริมาณไข่ไก่ของเขามีมากขึ้น ไข่ไก่ก็จะทะลักเข้ามายังไทย แต่ถ้าหากถึงฤดูที่ไข่ไก่ทางมาเลเซียนั้นมีราคาสูง แนวชายแดนก็จะมีไข่ไก่ของเราออกไปเช่นกัน

“โดยการผลิตเพื่อส่งออกกันอย่างจริงจังนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจนมากนัก ซึ่งยังคงต้องรอหลังจากที่มีการเปิดเป็นเออีซีกันไปแล้ว ว่าจะมีการเชื่อมโยงกันมากน้อยเพียงใด” นายสันติ กล่าว

น.สพ.ประวัติ รัตนภุมมะ ปศุสัตว์เขต 2 ซึ่งดูแลเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก รวม 8 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง นครนายก จันทบุรี ตราด และสระแก้ว) กล่าวแนะนำเกษตรกรว่า ปัจจุบันผู้บริโภค หรือประเทศปลายทางผู้ซื้อสินค้าด้านปศุสัตว์นั้น จะเน้นไปยังที่ด้านคุณภาพของสินค้า ซึ่งคุณภาพของสินค้า หรือผลผลิตที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ดี หากดูจากเพื่อนบ้านเราแล้วหลายประเทศก็ได้มีการจัดทำระบบมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งเป็นสิ่งเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่ผลผลิตที่ดี เป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน

การแข่งขันในอนาคตทางด้านการปศุสัตว์นั้น โดยเฉพาะเรื่องของฟาร์มไก่ไข่ ก็จะมุ่งเน้นไปที่การทำมาตรฐานฟาร์ม แต่ขณะเดียวกัน การทำมาตรฐานฟาร์มนี้ยังมีไม่ครบทุกประเทศในกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

“แต่ประเทศที่ทำการส่งออกไข่ไก่มากที่สุดในอาเซียน อย่างมาเลเซีย ที่ผลิตเพื่อส่งออกปีละประมาณ 1,500 ล้านฟองนั้น ได้ให้ความสนใจเกี่ยวมาตรฐานฟาร์ม และในอนาคต ปี 2558 หากมีการเปิดกว้างเป็นเออีซีกันแล้วนั้น ประเทศที่จะสามารถรักษาตลาดไข่ไก่ของตนเองไว้ได้ หรือสามารถส่งออกไข่ไก่ไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านได้นั้น จะเป็นประเทศที่มีมาตรฐานฟาร์มในการเลี้ยงไก่ไข่เท่านั้น เพราะไข่ไก่เหล่านี้จะเป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือผู้ซื้อ ดังนั้น เราต้องขยายขอบเขตในการทำมาตรฐานฟาร์มไปยังฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ให้มากขึ้น เพื่อลดจุดอ่อนที่มีอยู่ให้ได้มาตรฐาน มีความเข้มแข็งมากขึ้น” น.สพ.ประวัติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น