xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมโรงสีข้าวปราจีนฯ ชี้โครงการจำนำยุ้งฉางทำโรงสีสบายกระเป๋า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมฤกษ์ บัวใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานการประชุม
ฉะเชิงเทรา - ตัวแทนสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดปราจีนฯ วิจารณ์ถึงโครงการจำนำยุ้งฉางกลางที่ประชุมอนุกรรมการข้าวระดับจังหวัด ชี้โครงการทำโรงสีสบายกระเป๋าไม่ต้องลงทุนซื้อข้าวกักตุน สาเหตุเพราะนโยบายมีข้าวรอไว้ให้ซื้ออยู่ในมือชาวนาได้ทุกเวลา ขณะศูนย์วิจัยข้าวเตรียมชูข้าวหอมมะลิปราจีนฯ เป็นจุดขาย

วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการประชุมคณะอนุกรรมการข้าวระดับจังหวัด หลังรัฐบาล (คสช.) มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูกาลผลิต ปี 2557/58 ตามที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ในส่วนของข้าวหอมมะลิ ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของราคาเป้าหมาย คือ 16,000 บาทต่อตัน จาก ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกรจะได้สินเชื่อในราคา 14,400 บาท และได้ค่าเช่าและเก็บรักษาเพิ่มอีกในราคา 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,400 บาทต่อตัน และข้าวเหนียวราคาเป้าหมาย 13,000 บาท ได้สินเชื่อเป็นเงิน 11,700 รวมค่าเก็บรักษา 1,000 บาท จะได้ 12,700 บาทนั้น

ด้าน นายสมฤกษ์ บัวใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานการประชุม และมีนายบำรุง เจียรมาศ การค้าภายในจังหวัดปราจีนบุรี อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็นผู้รับผิดชอบจัดการประชุมนั้น ระหว่างการประชุมได้มี นายเอนก มาลานนท์ ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าว จ.ปราจีนบุรี ได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลได้ช่วยทำให้โรงสีผู้ดำเนินการผลิต และค้าขายข้าวได้อย่างสะดวกสบายกระเป๋ามากขึ้น ด้วยการทำการค้าแบบซื้อมาขายไป โดยที่ไม่ต้องมีการลงทุนซื้อข้าวเพื่อนำมาเก็บเข้าสต๊อกกักตุนสำรองไว้ เนื่องจากทางรัฐบาลได้ทำการสต๊อกข้าวไว้ให้ในยุ้งฉางของชาวนาแล้ว

เมื่อข้าวอยู่ในยุ้งฉางของชาวนา ราคาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงขยับขึ้น โดยผู้ที่จะทำการส่งออกนั้นล้วนต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า หากต้องการจะซื้อข้าวเมื่อใดก็ยังคงมีข้าวอยู่ในยุ้งฉางของชาวนาอยู่ดี และหากผู้ค้ารายใดอยากได้ข้าวที่อยู่ในยุ้งก็สามารถทำการยั่วราคาได้ด้วยการซื้อขยับเพื่อนำตลาดขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถได้ข้าวในยุ้งฉางของชาวนาออกมาขายได้ และเชื่อว่าจะมีชาวนาจำนวนไม่น้อยก็จะพากันนำข้าวที่อยู่ในยุ้งฉางออกมาขาย โดยที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน จากนั้นข้าวที่จะถูกนำเข้ามาทดแทนเก็บไว้ภายในยุ้งฉางนั้นก็อาจจะไม่ใช่ข้าวหอมมะลิเหมือนกับในตอนแรกที่ได้นำเข้าสู่โครงการก็เป็นได้

นายเอนก กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ราคาที่ทางรัฐบาลกำหนดเพื่อช่วยเหลือชาวนานี้เชื่อว่าเงินนั้นจะถึงมือเกษตรกรครบถ้วนอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายขาดทุน เพราะราคาข้าวหอมมะลิในปัจจุบันอยู่ที่ราคาตันละ 10,000 บาท และอาจสูงขึ้นไม่เกิน 14,500 บาท ผู้ส่งออกก็จะเลือกซื้อในราคาที่ถูกกว่า หรือซื้อแล้วขายได้เท่านั้น จึงเป็นข้อกังวลที่เกรงว่าชาวนานั้นจะรีบขายข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้ออกไปก่อน ส่วนข้าวที่จะเอาเข้าไปเก็บแทนในยุ้งฉางนั้นก็อาจจะไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ

นายปัญญา ร่มเย็น ผอ.ศูนย์วิจัยข้าว จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดปราจีนบุรี ได้ทำการวิจัย และทำการผลิตข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ปราจีนบุรี เป็นสายพันธุ์เฉพาะพื้นถิ่น ในเขตพื้นที่ อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี และประจันตคาม จนเป็นที่ยอมรับว่ามีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม อีกทั้งเมล็ดข้าวยังนุ่มคล้ายกับข้าวญี่ปุ่น และสามารถนำไปผลิตเป็นซูชิ ข้าวหมกสาหร่ายในเมนูอาหารญี่ปุ่นได้อีกด้วย ซึ่งมีรสชาติใกล้เคียงกัน

“ต้องการให้ทางจังหวัดทำการสนับสนุนให้มีการผลิต และสร้างชื่อเสียงให้เป็นข้าวสายพันธุ์เฉพาะของทางจังหวัด ดีกว่าจะเสียโอกาสในการสร้างชื่อเสียงในสายพันธุ์ข้าวที่ดีของทางจังหวัดไป แบบเดียวกับข้าวหอมมะลิใน อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา ที่เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในแถบภาคอีสานแล้วกลับมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้ผลผลิตดีกว่า ซึ่งสายพันธุ์ข้าวที่ทำการวิจัยขึ้นมานี้ คือ พันธุ์ข้าวหอมมะลิ กข.45” นายปัญญา กล่าว

ด้านนายบำรุง เจียรมาศ การค้าภายในจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ในการพิจารณาคัดเลือกโรงสีข้าวเพื่อเริ่มแนวทางตั้งคณะทำงานที่จะกำกับดูแลในพื้นที่ระดับอำเภอ สำหรับโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการขอรับการชดเชยดอกเบี้ย และการวางแนวทางให้ระบบการผลิตของเกษตรกร ให้ปลูกข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น และขายข้าวได้ราคามากขึ้น เช่น การปลูกข้าวสายพันธุ์ กข.45 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ข้าวของ จ.ปราจีนบุรี เอง ที่มีเมล็ดยาว

ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดปราจีนบุรี กำลังให้การสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก เพราะสามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่ อ.ประจันตคาม และนาดี ในระดับน้ำลึก 1-1.5 เมตร ตามระดับน้ำในพื้นที่ที่ต้องรองรับน้ำไหลลงมาจากป่าเขาใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีข้าวหอมปทุมฯ ที่เหมาะต่อการเพาะปลูก ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ อ.บ้านสร้าง ที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมสูงนั้น ควรต้องทำการประสานงานปรึกษากับทางศูนย์วิจัยข้าว หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ถึงความเหมาะสมในการเพาะปลูก หรือควรปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรชนิดอื่นที่เหมาะสมกว่าต่อไป

นายบำรุง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ปัจจุบันสามารถผลิตข้าว และนำออกมาจำหน่ายได้ในราคา 8,500 บาทที่ความชื้นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนข้าวหอมจังหวัดในฤดูกาลเก็บเกี่ยวหลังจากนี้จะขายได้ 9,500-10,000 บาทต่อตัน ส่วนต้นทุนในการผลิตของชาวนาในพื้นที่นั้น หากเป็นนาเช่าทั้งหมดจะอยู่ที่ 5,500 บาท และหากเป็นที่นาของตนเองนั้นจะอยู่ที่ 3-4 พันบาท

ส่วนปัญหาในการผลิตของเกษตรกรนั้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวสภาพของดินฟ้าอากาศ และลุ่มน้ำ เพราะภูมิประเทศนั้นต้องรองรับน้ำจากเทือกเขาลงมากองรวมกันในบางพื้นที่ และมีคลองขนาดเล็กระบายลงสู่ทางตอนล่าง จึงทำให้ทางตอนบนนั้นมีแต่น้ำที่ยังขังอยู่เพื่อรอการระบาย พื้นที่จึงมีแต่น้ำในหน้าฝน
คณะอนุกรรมการข้าวระดับจังหวัด ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
กำลังโหลดความคิดเห็น