xs
xsm
sm
md
lg

สคจ.บุกศาลากลางร้องค้านเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน (สคจ.) บุกยื่นหนังสือจังหวัดอุบลราชธานีค้านสั่งปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพราะผิดเงื่อนไขที่เข้าพบ “ปนัดดา ดิษกุล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะตั้งกรรมการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านร่วมกัน สุดท้ายจังหวัดทำเรื่องเสนอรัฐบาลหาข้อยุติ ส่วนกองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธรที่กำกับดูแลเขื่อนปากมูล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเริ่มสั่งปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานแล้ว

วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มสมัชชาคนจนประมาณ 30 คนนำโดยนางสมปอง เวียงจันทร์ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่อนุญาตให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ทำให้ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำตามมติ ครม.ที่ให้เปิดประตูระบายน้ำปีละ 4 เดือน เพราะปีนี้เขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำฟื้นฟูระบบนิเวศเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา

และยังทำลายบรรยากาศความร่วมมือแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจน หลังจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ม.ล.ปนัดดา ดิษกุล ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลลงมารับข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล และตกลงจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านปากมูลอย่างเป็นรูปธรรม

การกระทำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงขัดแย้งกับข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมุ่งแต่จะเอาประโยชน์โดยไม่คิดแก้ไขปัญหาที่ตนเองได้สร้างขึ้นมาเมื่อ 26 ปีก่อน จึงมายื่นหนังสือคัดค้านการเปิดประตูระบายน้ำครั้งนี้

ต่อมานายเศรษฐการย์ ทิพย์สุวรรณ รักษาการปลัดจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาพบกับชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนและรับหนังสือคัดค้านการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเสนอให้นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดรับพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน ซึ่งต้องการให้เปิดประตูเขื่อนจนกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการมาแก้ไขปัญหาตามที่ได้ตกลงกับ ม.ล.ปนัดดาไว้แล้ว และได้ทำหนังสือแจ้งให้รัฐบาลตัดสินใจอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน นายสถาพร ศรีเจริญ หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ได้เป็นประธานปิดประตูเขื่อนปากมูล บ้านหัวเห่ว ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และน้ำใช้อุปโภคบริโภคในพื้นที่ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น