บุรีรัมย์ - กรมศิลปากรวอน ปชช.-นักท่องเที่ยว ร่วมดูแลอนุรักษ์โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่กระทำความเสียหาย หลังเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซันมี ปชช.และนักท่องเที่ยวเที่ยวชมโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆ จำนวนมากขึ้น
วันนี้ (9 ต.ค.) นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร เปิดเผยภายหลังเดินทางมาสำรวจโบราณสถานที่วนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่เทศกาลการท่องเที่ยวหรือไฮซีซันแล้ว และพบว่าได้มีประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เดินทางไปเที่ยวชมตามแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญตามจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะโบราณสถานที่ถูกขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางกรมศิลปกร ปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 แห่ง และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่า 5,000 แห่ง รวมกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ
จากกรณีดังกล่าวทางกรมศิลปากรจึงได้ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้าไปเที่ยวชมและศึกษา ได้ร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานให้คงสภาพดั้งเดิม ไม่ควรไปนั่ง ปีนป่าย ขีดเขียน ทุบทำลาย หรือทำสิ่งอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน เพื่อคงความสวยงามตามแบบบรรพบุรุษไว้ให้อยู่คู่บ้านคู่เมือง
พร้อมกันนี้ ทางกรมศิลปากรยังได้ประสานให้หน่วยงานในสังกัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมในการดูแลรักษาและอนุรักษ์อย่างเข้มงวด หากมีผู้ใดฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามกฎหมายด้วย
นายธราพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนโบราณสถานต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินไหวหลายแห่ง ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมตามวิธีการขั้นตอนแบบคนโบราณและบรรพบุรุษ ร่วมกับภาคเอกชนที่ช่วยบริจาคงบประมาณในการซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเสร็จสิ้นแล้ว
สำหรับวัดวาอารามที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ เช่น วัดพระธาตุเจดีย์หลวง และวัดพระธาตุจอมกิติ ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม พร้อมเพิ่มโครงสร้างใหม่ให้สามารถรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้ เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวชม ศึกษา และกราบไหว้อย่างเร่งด่วนแล้ว