บุรีรัมย์ - นักท่องเที่ยวยังเฝ้ารอชมและรับพลังแสงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู “ปราสาทพนมรุ้ง” บุรีรัมย์ครั้งสุดท้ายของปี เพื่อเสริมสิริมงคลและขอพรตามความเชื่อในวันที่ 7-8 ต.ค. หลังวันแรกผิดหวังเพราะฝนตกท้องฟ้าปิดทำให้ไม่สามารถมองเห็น ขณะ หน.อุทยานฯ เผยเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติ 1 ปีมีให้ชม 4 ครั้ง
วันนี้ (7 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดยังเดินทางมาเฝ้ารอชมและรับพลังแสงอาทิตย์จากปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เพื่อเสริมสิริมงคลและขอพรตามความเชื่อ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณ และคาดการณ์ไว้ว่าดวงอาทิตย์จะตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ในวันที่ 6-8 ตุลาคม เวลาประมาณ 18.05 น.
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวยังได้นำกล้องมาเตรียมบันทึกภาพเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย หลังจากเมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) เมื่อถึงช่วงเวลาตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณไว้ ต่างต้องผิดหวังเนื่องจากได้มีฝนตกและท้องฟ้าปิด ทำให้ไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูพนมรุ้งได้ ซึ่งสามารถรอชมได้อีกครั้งในวันนี้ (7 ต.ค.) และ 8 ต.ค.นี้
นางบังอร อังคะแสน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจาก จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ตั้งใจพาครอบครัวเดินทางมาชมปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะเชื่อว่าหากใครได้ชมดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูและรับพลังแสงอาทิตย์ที่สาดแสงผ่าน 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต แต่วันแรกต้องผิดหวังเพราะฝนตกทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ไม่รู้สึกเสียใจ เพราะถือว่าได้มีโอกาสมาเที่ยวชมความงดงามและมหัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้ง
ด้านนายบัณฑิต ทองอะร่าม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 1 ปีมีให้ชมเพียง 4 ครั้ง คือ ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม และวันที่ 6-8 ตุลาคมของทุกปี
ส่วนวันที่ 3-5 เมษายน และวันที่ 8-10 กันยายน ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู ซึ่งปราสาทพนมรุ้งถือเป็นเทวสถานในศิลปกรรมขอมแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ที่มีการก่อสร้างปราสาทให้แสงอาทิตย์ส่องตรง 15 ช่องประตูผ่านศิวลึงค์ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้ง อันเปรียบเสมือนเขาไกรลาสบนสรวงสวรรค์