กาญจนบุรี - เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ตำรวจ สนธิกำลังตรวจสอบที่ดินกว่า 800 ไร่ ของบริษัทปุ๋ยชื่อดัง ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค พบขุดเจาะบนยอดเขากว่า 100 ไร่ ส่วนเอกสาร น.ส.3 ก. สลักหลังออกแทนหลังไฟไหม้ที่ว่าการอำเภอไทรโยค
วันนี้ (25 ก.ย.) พ.อ.วุฒิชัย นาควานิช ผู้บังคับการควบคุมกรมทหารราบที่ 29 พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานปฎิบัติ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ พ.อ.ชินโชติ บุญยไพศาลเจริญ รอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดกาญจนบุรี พ.ท.สุทธิพงษ์ พืชมงคล รองเสนาธิการ กรมทหารราบที่ 29 พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง หน.ชุดปฏิบัติการที่ 1 ศปป.ทส.ตร. พร้อมด้วย พ.อ.ฐกัด หลอดศิริ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ผู้อำนวยการส่วนยุทธการป้องกันและปราบปราม กรมป่าไม้ นายสุทธิพงษ์ ตันบุญยศิริเดช นายอำเภอไทรโยค พ.ต.อ.บันฑิต ม่วงสุขำ ผกก.สภ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดกาญจนบุรี นายบุญชิต ครชาตรี หน.หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ กจ.1 (ท่าเสา) และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.10 (ห้วยน้ำขาว)
สนธิกำลังกว่า 100 นาย ปูพรมเข้าตรวจสอบที่ดินของบริษัท ปุ๋ยไทย ซีลิคอลท์ จำกัด เนื้อที่ประมาณ 813 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี สภาพเป็นภูเขา และหุบเขา โดยมี นายสง่า สะอาดชื่น อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 88 หมู่ 1 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี คนดูแล และนำพาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมด
จากการตรวจสอบพบพื้นที่มีร่องรอยการนำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดดินลูกรังสภาพใหม่ แต่ไม่พบเครื่องจักรแต่อย่างใด จากค่าพิกัดคำนวณพื้นที่ที่ขุดเจาะดินลูกรังลึกประมาณ 10 เมตร กว้าง 80 เมตร ยาว 150 เมตร เนื้อที่ประมาณ 99 ไร่เศษ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบ นายอัครเดช สิงห์คลา ผู้รับเหมาขุดเจาะดินลูกรัง จึงสอบถามและให้การว่า บริษัท ปุ๋ยไทย ซีลิคอลท์ จำกัด ได้จ้างให้ตนดำเนินการขุดสระเพื่อเก็บน้ำ โดยเริ่มขุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยทางบริษัทบอกแก่ตนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเอกสารสิทธิเป็นใบ น.ส.3 ออกถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น ตนจึงรับเหมาขุดเจาะสระน้ำดังกล่าว ที่ดินมีทั้งหมด 9 แปลง ตนเห็นว่าที่ดินแปลงที่ 4 อยู่ใกล้กับถนน เพื่อความสะดวกในการเข้าออกจึงเลือกขุดเจาะแปลงที่ 4 ก่อน โดยไม่เคยคิดว่าที่ดินจะมีปัญหา เพราะทางบริษัทได้นำเอกสารครอบครองที่ดินมาให้ดู ก่อนที่จะลงมือขุด และได้ทำสัญญาสัญญากัน โดยจะขุดให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ผู้อำนวยการส่วนยุทธการป้องกันและปราบปราม กรมป่าไม้ เปิดเผยภายหลังว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เบื้องต้นคาดว่าดิน และหินที่พบขุดขึ้นมานั้นอาจจะไม่ใช่หินธรรมดา จากสายตาคาดว่าจะเป็นแร่ แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นแร่อะไร ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
จากการตรวจสอบพบว่า มีการขุดดิน และหินขึ้นมากองรวมกันทั้งหมด 11 กอง น้ำหนักรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน และจากการตรวจสอบเอกสารการครอบครองที่ดิน พบเป็นเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ที่เคยออกให้แก่ชาวบ้านหลังจากที่ว่าอำเภอไทรโยค ถูกไฟไหม้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เนื่องจากพบว่าด้านหลังใบเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. มีตัวหนังสือสีแดงเขียนระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ออกแทนใบจริงที่ถูกไฟไหม้ โดยการออกเอกสารสิทธิครั้งหลังนี้ได้มีการออกโดยที่เจ้าหน้าที่ ไม่ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบพื้นที่จริงเลย จึงมีการออกเอกสารแบบนี้ทับซ้อนกันเป็นจำนวนมาก บางทีก็ออกให้ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ เขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่สาธารณประโยชน์ เป็นต้น จึงทำให้นายทุนใช้ช่องทางนี้เข้ามากว้านซื้อที่ดิน และทำการขุดเจาะหาแร่ธาตุชนิดต่างๆ จนเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมากไปทั่วทั้งอำเภอไทรโยค
ในรายนี้เจ้าหน้าที่ได้สั่งระงับการดำเนินการจนกว่าจะตรวจสอบเอกสารที่มาที่ไปว่าออกมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2513 จนถึงปี 2555 ยังเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์อยู่ และเริ่มมีการพบร่องรอยเมื่อปี 2556 นี้ โดยพื้นที่นี้เดิมที่เป็นพื้นที่ 2481 โดยมีทหารเป็นผู้ดูแล ต่อมา ทหารได้คืนให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน และได้จัดสรรพื้นที่ให้แก่ชาวบ้านเป็นบางส่วนเท่านั้น โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิกันต่อไปว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร