อุบลราชธานี - ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกัดกินต้นข้าวเสียหายประมาณ 5 หมื่นไร่ หลังไม่พบการระบาดมานานเกือบ 10 ปี ผู้ว่าฯ เตือนหมั่นตรวจสอบและกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสียหาย
นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดกัดกินต้นข้าวนาปีที่กำลังเติบโตใกล้เก็บเกี่ยว โดยพบพื้นที่ระบาดใน 63 ตำบล 11 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ม่วงสามสิบ พิบูลมังสาหาร สิรินธร ศรีเมืองใหม่ ตระการพืชผล บุณฑริก นาเยีย น้ำยืน เดชอุดม ตาลสุม และสำโรง พื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด ร่วมกับอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ให้ความรู้แก่เกษตรกร หมั่นตรวจสอบแปลงปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดให้แจ้งศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีเข้าตรวจสอบและทำการกำจัด โดยการฉีดพ่นยากำจัดเพลี้ยอย่างถูกวิธี
เกษตรกรไม่ควรใช้สารแอลฟาไซเพอร์มิทริน ไซเพอร์มิทรินไซแฮโลทริน เดคาทริน เอสเฟนแวเลอเรต เพอร์มิทริน ไตรอะโซฟอส ไซยาโนเฟนฟอส ไอโซซาไทออน เพราะจะกระตุ้นทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นในพื้นที่อีก
สำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงศัตรูพืชจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลปนดำ สามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางไกลและใกล้ โดยอาศัยกระแสลมช่วย
โดยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำ ท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ จึงเรียกเป็นอาการของโรคไหม้ โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอ ถึงระยะออกรวง
นอกจากนี้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียวแคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และขอบใบแหว่งวิ่น เมื่อโตเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล
สำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่พบการระบาดในพื้นที่มานานเกือบ 10 ปีแล้ว การกลับมาระบาดครั้งนี้คาดอาจติดมากับฟางข้าวที่ซื้อจากภาคกลางมาเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ช่วงเกิดน้ำท่วมเมื่อ 2 เดือนก่อนก็ได้