ลำปาง - แกะรอยที่ตั้ง “คุ้มหลวง หอคำ ลำปาง” ที่พำนักเจ้าผู้ครองนครในอดีต ผู้เฒ่าผู้แก่-ปราชญ์ท้องถิ่นฟันธงอยู่ในศาลากลางหลังเก่าเมืองรถม้าจริง บอกสมัยเป็นเด็กยังเคยวิ่งเล่น-เอาหินขว้างใส่หลังคาฟังเสียงหินกลิ้งไล่ระดับ จนท.จี้กรมศิลป์ฟื้นฟูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โดยเร็ว
วันนี้ (15 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายสาคร วงศ์สมุทร นักวัฒนธรรม, นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดี ปฏิบัติการ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ 7 น่าน ได้เข้าตรวจสอบอิฐและพื้นที่โดยรอบศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดลำปาง ตามแผนผังเก่าของกรมโยธาธิการ ที่มีการระบุว่าเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวง ที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครลำปางในอดีต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อสืบค้นที่ตั้ง และตำแหน่งของคุ้มหลวง หอคำกันอย่างจริงจังอีกครั้ง
ล่าสุด พ่อหนานบุญศรี วรรณศรี ปราชญ์ชาวบ้าน อายุ 86 ปี ได้ยืนยันต่อผู้สื่อข่าวว่า “คุ้มหลวง หอคำ” ตั้งอยู่บริเวณภายในศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเก่าซึ่งคือจุดที่มีการพบอิฐโบราณระหว่างมีการขุดวางท่อระบายน้ำจริง
พ่อหนานบุญศรีเล่าว่า สมัยที่ตนเองเป็นเด็กเคยเข้ามาวิ่งเล่นและด้วยความซนยังได้ใช้หินขว้างปาไปบนหลังคาคุ้มหลวงซึ่งเป็นกระเบื้องดินขอ เมื่อหินกระทบกับกระเบื้องดินขอก็จะเกิดเสียงดังไล่ไปตามลำดับแล้วหล่นลงจากหลังคา ก่อนที่จะพากันวิ่งหนีเนื่องจากเกรงเจ้าหน้าที่จะไล่จับไปลงโทษ
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับแผนที่ดั้งเดิมที่มีปรากฏเป็นหลักฐาน ณ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง และที่กรมศิลปากรที่ 7 น่าน ที่ตรงกันว่า “คุ้มหลวง” ที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครลำปางในอดีตเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 16 เมตร ยาวประมาณ 36 เมตร ตั้งอยู่ระหว่างสำนักงานโยธาฯ และหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำปางเดิม ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดลำปาง
“บริเวณที่พบอิฐเรียงตัวกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งถูกขุดวางท่อระบายน้ำนั้นเป็นส่วนปีกซ้ายของอาคารคุ้มหลวงจริง”
ขณะที่นายจำรัค จีรปัญญาทิพ ประธานกลุ่มคุ้มหลวง-หอคำ ลำปาง ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ได้ติดตามสืบค้นในเรื่องคุ้มหลวง หอคำ ลำปาง เปิดเผยว่า ในอนาคตหากสามารถฟื้นให้มีการสร้างคุ้มหลวง หอคำ ขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิมได้สำเร็จ คาดว่า สถานที่แห่งนี้จะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาจำนวนมากแน่นอน
โดยขณะนี้พบส่วนประกอบของตัวอาคารคุ้มหลวงเดิมบางส่วนแล้ว เช่น ระเบียงปีกซ้าย-ขวา, ระเบียงหน้ามุข, ลูกกรงระเบียง, ไม้แป้นราวบันได และเมื่อนำชิ้นส่วนดังกล่าวมาคำนวณประกอบกับภาพถ่ายโบราณที่ยังคงปรากฏอยู่ ก็สามารถสเกตซ์ภาพของคุ้มหลวง หอคำ เท่าขนาดจริงตามภาพถ่ายเดิมได้ทันที
แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในเบื้องต้นคือ จะต้องเร่งระดมหางบประมาณจากทุกภาคส่วนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการฟื้น “คุ้มหลวง หอคำ ลำปาง” เพื่อขอให้กรมศิลปากรฯ เข้ามาขุดสำรวจทั้งหมด ซึ่งต้องใช้งบประมาณราว 1.2 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่ต้องการจะร่วมสมทบทุน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มคุ้มหลวง-หอคำ ลำปาง หมายเลขโทรศัพท์ 08-9329-5498