ศูนย์ข่าวศรีราชา - ยูนิไทยฯ เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โครงการก่อสร้างเขื่อนเทียบเรือ (wharf) 400 เมตร
ร.อ.ดุสิต มิทธิยา ผู้จัดการอาวุโส แผนกซ่อมบำรุงและพัฒนาพื้นที่ บริษัทยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เผยว่า วันนี้ (12 ก.ย.) ทางบริษัทฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนเทียบเรือ (wharf) ขนาดความยาว 400 เมตร
ทั้งนี้ เนื่องจากตามเงื่อนไขสัญญาเช่าที่ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการไว้กับท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องทำการสร้างอู่แห้ง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการศึกษาความเหมาะสมโครงการสร้างอู่แห้งที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังแล้วแต่ พบว่า ไม่เหมาะสม จึงมาพิจารณาเป็นแนวทางการชดเชยเพื่อทดแทนการก่อสร้างอู่แห้งซึ่งมีความเหมาะสมตามหลักในการพิจารณา คือ เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีประโยชน์ต่อการดำเนินกิจการอู่เรือ เนื่องจากไปกรีดขว้างทางเดินของน้ำ จึงได้มาทำโครงการก่อสร้างเขื่อนเทียบเรือ (wharf) ขนาดความยาว 400 เมตร
เพื่อชดเชยทดแทนการสร้างอู่แห้งให้แก่ท่าเรือแหลมฉบังแทน เป็นลำดับที่ 2 หรือลำดับสุดท้ายต่อเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนเทียบเรือส่วนขยาย ซึ่งได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม โดยว่าจ้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้ง 2 โครงการ
สำหรับขอบเขตการทำงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมครอบคลุมพื้นที่โดยรอบที่ตั้งในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ของเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 9 ชุมชน คือ ชุมชนแหลมฉบัง ชุมชนบ้านทุ่ง ชุมชนบ้านอ่าวอุดม ชุมชนวัดมโนรม ชุมชนบ้านนาเก่า ชุมชนบ้านนาใหม่ ชุมชนหมู่บ้านแหลมฉบัง ชุมชนทุ่งกราด และชุมชนบางละมุง
การศึกษาจะเน้นเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ หรือมีผลกระทบต่อโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ซึ่งครอบคลุมทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของประชาชน และคุณภาพชีวิต
นายมานะ ภู่ละมัย ชาวบ้านแหลมฉบัง เผยว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้ามาก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ในพื้นที่แต่ละรายก็จะบอกแต่สิ่งที่ดีๆ สามารถดำเนินการโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชน แต่ในความเป็นจริงไม่มีโครงการใดที่จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีผลกระทบเลย 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่อยากจะฝากให้ทางบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในระหว่างการก่อสร้าง ในเรื่องของคุณภาพน้ำ การเกิดตะกอนฝุ่นใต้ท้องทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง ทางบริษัทจะต้องให้ความสำคัญ และมีมาตรการป้องกันแก้ปัญหาให้ชัดเจน และจะทำอย่างไรให้ทั้งชาวบ้าน และโรงงานอุตสาหกรรม หรือท่าเรืออยู่ร่วมกันได้ด้วยความปลอดภัย และมีความสุข