xs
xsm
sm
md
lg

“จากล้านนาสู่สยามสแควร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สสว. ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ จัดงาน “จากล้านนาสู่สยามสแควร์” ยกระดับพัฒนาสินค้า OTOP ในกลุ่มภาคเหนือ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน “จากล้านนาสู่สยามสแควร์” ที่บริเวณหน้าศูนย์การ ค้า SQ1 สยามสแควร์ ซอย 7 เขตปทุมวัน โดยมี นายชัยวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดงาน

นายชัยวันย์ สวัสดิ์-ชูโต กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP ในกลุ่มภาคเหนือ ที่ได้เข้าร่วมในโครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ (OTOP PLUS) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ปี 2557 มาทดลองจำหน่าย และทดสอบรสนิยมของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ได้ผ่านอบรมจากทางโครงการฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย ดำเนินการปรับระดับสินค้า OTOP ระดับ 4-5 ดาว ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือรวมกว่า 50 ราย ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับอย่างบูรณาการ

คือ ทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพิ่มโอกาสตลาดด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมทั้งมีแผนสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องต่อรสนิยมของผู้บริโภค และแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ

ด้าน อ.มะลิวรรณ เดชาฤทธิ์ จากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์ฯ และผู้ช่วยหัวหน้าโครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ กลุ่มภาคเหนือ ได้กล่าวว่า โครงการ OTOP PLUS กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เป็นกิจกรรมสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 ของ สสว. เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนจากเป้าหมาย 200 รายทั่วทุกภูมิภาค

ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ มีผู้เข้าร่วมแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1.อาหาร เครื่องดื่ม 2.เครื่องประดับและของตกแต่ง 3.ผ้า และ 4.กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์ในภาคเหนือนั้นมีจุดเด่นด้านรูปแบบการใช้งาน หรือเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 5 เท่าตัว เช่น ผ้าผืนไทลื้อ เมื่อนำมาทำเป็นกระเป๋าสมัยใหม่ วางจำหน่ายได้ในราคา 2,000 บาท/ใบ จากเดิมราคาผ้าผืนละ 400 บาท

ในส่วนของ สสว. ได้วางเป้าหมายเบื้องต้นต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่โอทอปพลัสอยู่ที่ 15% แต่สำหรับในกลุ่มอาหารอาจเพิ่มมูลค่าได้ไม่สูงนัก เนื่องจากเงื่อนไขทางต้นทุนในการผลิต แต่ก็สามารถที่จะเพิ่มการซื้อได้โดยการปรับบรรจุภัณฑ์ ทำสินค้าให้ขายแบบหลายชิ้นในห่อเดียว หรือขายเป็นแพก จากเดิมที่เคยขายได้ครั้งละหนึ่งชิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น