กาฬสินธุ์ - กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดกาฬสินธุ์เร่งสอบกรณีรูดบัตรสินเชื่อเกษตรกรซื้อปุ๋ยถูกคิดเพิ่ม 3% หรือกระสอบละ 20 บาท ขณะที่ ธ.ก.ส.กาฬสินธุ์ยันรูดบัตรไม่มีถูกคิดเพิ่มหรือเสียค่าธรรมเนียม พร้อมปลอดดอกเบี้ยในเดือนแรก หลังจากนั้นเกษตรกรจะต้องเสียค่าดอกเบี้ยร้อยละ 7 บาทต่อปี
จากกรณีมีการระบุว่าพบปัญหาเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรทุกรายที่นำบัตรไปรูดซื้อปุ๋ยเคมีตามบริษัทห้างร้างต่างๆ กลับได้จ่ายเงินค่าปุ๋ยเพิ่มขึ้นอีก 3% หรือกระสอบละ 20 บาท ซึ่งทำให้กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าตรวจสอบ
ล่าสุดวันนี้ (4 ก.ย.) พ.อ.จุมพล จุมพลภักดี ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 6 ในฐานะรองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ จ.กาฬสินธุ์ นายสามารถ เผ่าภูไทย รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นายเกรียงศักดิ์ เทียนชัย ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.กาฬสินธุ์ นายวิษุวัต เปรุนาวิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบัตรสินเชื่อเกษตรกร เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยในสำนักงาน สกต.สาขากาฬสินธุ์
หลังมีข่าวเกษตรกรใช้บัตรสินเชื่อซื้อปุ๋ยตามห้างร้านต่างๆ แล้วถูกคิดเพิ่ม 3% หรือกระสอบละ 20 บาท
จากการตรวจสอบพบว่าการใช้บัตรยังคงเป็นไปตามข้อตกลง เงื่อนไข และกฎระเบียบของโครงการ ซึ่งไม่มีการคิดค่าบริการ ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการรูดใช้บัตร และยังไม่พบการคิดเงินเพิ่ม 3% หรือกระสอบละ 20 บาทตามที่มีข่าวออกมา คาดว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในข้อมูล
ทั้งนี้ เพราะการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรในการซื้อปุ๋ยหรืออุปกรณ์ทางการเกษตรนั้น ธ.ก.ส.จะไม่คิดดอกเบี้ยใน 1 เดือนแรก จากนั้นจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าที่อื่นๆ เพราะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเงินสดซื้อปุ๋ย
นายสามารถ เผ่าภูไทย รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเกษตรกรใช้บัตรสินเชื่อซื้อปุ๋ยตามห้างร้านต่างๆ แล้วถูกคิดเพิ่ม 3% หรือกระสอบละ 20 บาท เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือเป็นการเข้าใจผิด
จากการตรวจสอบนั้นไม่พบการคิดเงินเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งมีเพียงร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องจ่ายเงินให้ ธ.ก.ส.เป็นค่ารักษาและดูแลระบบร้อยละ 1 ของยอดที่รูด ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ร้านค้าส่วนใหญ่ก็พอใจ จึงได้ทำสัญญากัน เพราะได้ขายสินค้ามากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ บัตรสินเชื่อเกษตรกรเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555
ในช่วงแรกมีร้านค้ามาเข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายกับ ธ.ก.ส.หมื่นกว่าร้านค้า และได้ชี้แจงกฎระเบียบวิธีปฏิบัติ โดยย้ำไม่ให้เอาเปรียบเกษตรกร ให้จำหน่ายสินค้าตามป้ายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้เพียงพอ ซึ่งแต่ละรายนั้นมีวงเงิน 5,000-50,000 บาท
ส่วนดอกเบี้ยในการรูดนั้นในเดือนแรกไม่ได้เสีย แต่ภายหลังจาก 1 เดือน ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป สินค้าถูกกว่า มีคุณภาพ และเกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
นายสามารถกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากพบร้านค้าหรือร้านจำหน่ายเอารัดเอาเปรียบ ขายสินค้าเกินราคา เรียกรับผลประโยชน์เกินตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการคิดเงินเพิ่มในการรูดบัตรสินเชื่อเกษตรกรเพิ่มให้แจ้งเข้ามายัง ธ.ก.ส.ทุกสาขา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกไปตรวจสอบ สั่งระงับการใช้เครื่องและดำเนินการตามขั้นตอนทันที
ด้านนายวิษุวัต เปรุนาวิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบัตรสินเชื่อเกษตรกร กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและ ธ.ก.ส.ได้ออกบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปทั่วประเทศแล้วกว่า 4 ล้านใบ ส่วนภาคอีสานมีมากสุดกว่า 1 ล้านใบ โดยปัจจุบันมีการใช้บัตรตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ต้นฤดูกาลผลิตจนถึงปัจจุบันวงเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมเพราะสะดวกในการใช้งาน
ส่วนกรณีหากมีการบวกเปอร์เซ็นต์จากร้านค้านั้น ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดเจ้าหน้าที่ส่วนงานทั้งประจำจังหวัดและส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติและดำเนินการทันที