กาญจนบุรี...รายงาน - เพียงแค่เดือนเดียว ของการลงพื้นที่ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าให้กลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติ ตามนโยบายของ คสช.ในพื้นที่กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่สามารถบุกยึดบ้านพักตากอากาศหรู และรีสอร์ตที่บุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติได้ถึง 7 แห่ง ล้วนแต่เป็นของเศรษฐี และเซียนพระชื่อดัง รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ต้องยอมรับว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ที่มีคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 วันที่ 14 มิถุนายน 2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งที่ 66/2557 วันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องออกปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าให้กลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช คนใหม่ ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วด้วยการนำคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 มาผนวกกับให้ตรวจสอบการเปลี่ยนมือสิทธิการทำประโยชน์ในพื้นที่ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ผ่อนผันตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยการบินสำรวจผืนป่าที่คาดว่าถูกกลุ่มนายทุนเข้าไปบุกรุก ยึดถือ ครอบครองในเขตอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อสร้างรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ และปลูกพืชการเกษตร โดยเฉพาะสวนยางพารา และสวนปาล์ม เพราะทราบดีว่าลำพังชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถกระทำได้ นอกจากกลุ่มนายทุนจากนอกพื้นที่ที่มีฐานะระดับเศรษฐีเท่านั้นที่ทำได้
ผลการบินสำรวจพบว่าผืนป่าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนเขาแหลม และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู มีการบุกรุก ยึดถือครอบครองมากที่สุด
จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ยึดถือ ครอบครองขึ้นมา ด้วยการใช้กฎอัยการศึก นำโดยนายทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ที่รับผิดชอบดูแลความสงบในแต่ละพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าร่วมปฏิบัติการ มีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเจ้าภาพ
การปฏิบัติการครั้งนี้ พบว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่งล้วนเป็นคนใหม่ทั้งสิ้น
วันที่ 21 ส.ค.57 นายธรรมรัฐ วงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ในฐานะประธารการตรวจสอบ นายวัฒนา มาปุก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นายฐิติ โสมภีร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งขาติเขื่อนเขาแหลม นายพงศ์สรรค์ ดิษฐานุพงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู นายกฤติน หลิมตระกูล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ช่วยปฏิบัติราชการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรรมการ ผู้ช่วยเลขานุการคณะตรวจสอบ
นายอนุกูล ลำไย หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ชุดที่ 3 ร.อ.ชัยวัฒน์ จันลี ฝอ.3 ร้อย อส.ร.9 พัน 1 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ได้สนธิกำลังกว่าเกือบ 100 นาย ใช้กฎอัยการศึก ตรวจยึดบ้านพักตากอากาศหรูทรงสเปนสูง 3 ชั้น เลขที่ 59/1 หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง มองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของทะเลสาบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องจีพีเอสวัดพิกัด ที่ 47 P 0509583 Utm 1592980 WCS 84 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา ของเศรษฐีวัย 72 ปี อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่งพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกแปลงผ่อนผันตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 นำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2545 มาเปรียบเทียบปรากฏว่า อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จึงยึดบ้านพักตากอากาศหรูมูลค่านับ 30 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
นอกจากนี้ คณะเจ้าหน้าที่ชุดเดียวกัน ยังได้เข้าไปตรวจสอบบ้านพักตากอากาศที่สร้างอยู่ริมหน้าผา อีก 3 หลัง มีนางปทุมทิพย์ บุญรัตน์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 124 หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นำพาตรวจสอบ
โดยนางปทุมทิพย์ บอกว่า บ้านทั้ง 3 หลังไม่ใช่บ้านพักตากอากาศ แต่เป็นบ้านพักอาศัยของนายยุทธนา และ น.ส.จุฑามาศ ลูกชายและลูกสาว และของนายธนพล กันภัย ลูกบุญธรรม ที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านทั้ง 3 หลัง ครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 และบ้านทั้ง 3 หลังครอบครัวช่วยกันสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้จ้างช่างรับเหมา เพราะสามีก็เป็นช่างอยู่แล้ว โดยบ้านทั้ง 3 หลังเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน ใช้เงินสร้างหลังละประมาณ 5 แสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารเพื่อขอบ้านเลขที่
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ผู้อำนวยสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า สำหรับบ้านพักตากอากาศทรงสเปนสูง 3 ชั้น เลขที่ 59/1 หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จากสภาพที่ใหม่อยู่ คาดว่าคงสร้างแล้วเสร็จมาประมาณ 2 ปี มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้นประเมินที่ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายกรมอุทยานแห่งชาติมาติดแสดงการตรวจยึด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัดพิกัดเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกแปลงสำรวจถือครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 อย่างชัดเจน
สำหรับบ้านพักตากอากาศอีก 3 หลัง ที่เข้าตรวจสอบพร้อมกันเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าอยู่ในแปลงสำรวจถือครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจยึดแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่เพียงแค่สงสัยว่า เจ้าของบ้านพักทั้ง 3 หลัง ที่เป็นลูกชายและลูกสาวรวมทั้งลูกเขยของนางปทุมทิพย์ ต่างก็ยังไม่มีงานทำ มีเพียงลูกสาวที่มีงานทำเป็นผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องสืบสวนในเชิงลึกอีกครั้งหนึ่งว่า พื้นที่สำหรับปลูกบ้านพักทั้ง 3 หลังมีการเปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุนหรือไม่
หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการเปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุน ก็จะต้องถูกยึดคืนเป็นสมบัติของชาติเช่นกัน และเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ จึงสั่งการให้หัวหน้าอุทยานฯ ทุกแห่ง ตรวจสอบรีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศที่มีอยู่ และจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน ห้ามละเว้นโดยเด็ดขาด
และที่สร้างชื่อเสียงให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มากที่สุด คือ วันที่ 25 ส.ค.57 การที่ นายฐิติ โสมภีร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ คนใหม่ ร่วมกับ นายวัฒนา มาปุก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ 3 (บ้านโป่ง) นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนเขาแหลม นายกฤติน หลิมตระกูล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ช่วยปฏิบัติราชการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ลำคลองงู เจ้าหน้าที่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่ 1 (กาญจนบุรี) สปป.ที่ 1 (ภาคกลาง) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ด่านแม่แฉลบ ร.ท.รตินนท์ เสนาณรงค์ รอง ผบ.ร้อย รส.ร 9 พัน 1 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอศรีสวัสดิ์ และเจ้าหน้าที่ บก.ปทส.กว่า 100 นาย ประชุมวางแผนที่หน่วยพิทักษ์อุทยาน ที่ 10 (องสิต) หมู่ 4 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พร้อมแบ่งกำลังออกเป็น 5 ชุด
เข้าตรวจยึด ARK รีสอร์ต ตั้งอยู่เชิงเขา ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ในพื้นที่หมู่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ก่อสร้างบนเนื้อที่ 35 ไร่ 1 งาน 60.37 ตารางวา มีอาคารบ้านพักชนิดต่างๆ รวม 6 หลัง พบไม้แดงท่อน 5 ท่อน ปริมาตร 0.83 ลบ.ม. มีนายกฤษณะ มณฑา อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/1 หมู่ 4 ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นผู้ดูแล โดยให้การว่ารีสอร์ตดังกล่าวมี นางอลิศา ไชยเลิศ อยู่บ้านเลขที่ 71/10 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นเจ้าของ
จากนั้นได้เข้าตรวจยึดสวนพิศตะวัน รีสอร์ต หมู่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ บนเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 94.27 ตารางวา มีนายสมภพ มีชูเวช อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 66 หมู่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นเจ้าของ ภายในก่อสร้างรีสอร์ตขนาดต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวรวม 6 หลัง โดย นายสมภพ และครอบครัว เดิมทีเป็นชาว จ.นนทบุรี ได้ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้าน เมื่อปี พ.ศ.2540 เพื่อปลูกพืชสวนเกษตร
ต่อมา ได้ลงทุนปลูกบ้านพักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ซื้อที่ดินมาไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนใดไปแสดงให้ทราบว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีการกล่าวโทษใดๆ ทั้งสิ้น จึงเชื่อโดยสุจริตว่าได้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดโดยชอบด้วยกฎหมาย
พร้อมกับเข้ายึด วิคตอรี่ วอเตอร์ฮิล รีสอร์ต ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ หมู่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 49 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกพืชทางการเกษตร ส่วนบริเวณริมอ่างเก็บน้ำมีการก่อสร้างบ้านพักส่วนตัวทำด้วยไม้ 1 หลัง บริเวณทางลงอ่างเก็บน้ำสร้างเป็นบ้านพักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยมี น.ส.ธัญญา เผือกผ่อง อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 179 หมู่ 4 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นผู้ดูแล โดยเจ้าของคือ นายธาราทร ชัยพัฒน์ นักธุรกิจชาว กทม.
จากนั้นได้เข้ายึด เคพีเอส รีสอร์ต หมู่ 5 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ก่อสร้างอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่ 12 ไร่ 2 งาน 83.19 ตารางวา ภายในมีบ้านพักตากอากาศก่อสร้างด้วยไม้สูง 2 ชั้น 1 หลัง บ้านปูน 2 ชั้น 1 หลัง ศาลาชมวิว 1 หลัง บ้านพักยกพื้นอีก 2 หลัง มีนายโจ่ ไม่มีนามสกุล ชาวพม่า อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 23/3 หมู่ 5 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นผู้ดูแล มีนายวิทยา หรือติ เตมีย์ เป็นเจ้าของ โดยอ้างต่อเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของอดีตนายตำรวจยศ พลโท ที่เกษียณราชการไปแล้ว โดยอ้างว่าได้เช่าพื้นที่จากกรมธนารักษ์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีเอกสารการเช่าอย่างถูกต้อง
และได้ตรวจยึด “ไร่ ป๋าเทพ” บริเวณริมหน้าผามีบ้านพักตากอากาศหลังขนาดใหญ่สร้างเป็น 2 โซนเชื่อมต่อกัน โครงสร้างเป็นไม้กะยาเลยเช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่า และชิงชัน พื้นปูด้วยแผ่นหินแกรนิต ทำเลบ้านพักตากอากาศ มีระเบียงยื่นออกไปนอกหน้าผา มองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ตรวจสอบภายในบ้าน พบเครื่องรางของขลังวางเกลื่อนเต็มพื้นห้อง เชื่อว่า เป็นบ้านพักตากอากาศของคนในวงการเซียนพระชื่อดัง บ้านพักตากอากาศหลังดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณพิกัด (GPS) WGS 84 47 P 0510893 E 1609142 N เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ 5 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
ต่อมาเช้าวันที่ 26 ส.ค.57 คณะเจ้าหน้าที่ชุดเดียวกัน เข้าตรวจยึดพื้นที่รีสอร์ตไม่มีชื่อตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 8 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี รวมเนื้อที่ 17 ไร่ 0 งาน 82 ตารางวา บ้านพักสิ่งก่อสร้างค่อนข้างเก่า จำนวน 11 รายการ นอกจากนี้ ยังพบซากสัตว์ป่า 1 ซาก ปืน 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนจำนวนหนึ่ง และเข้าตรวจยึดบ้านไร่ปรางมาลี รีสอร์ต ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านดงเสลา หมู่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.สรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 45 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา สิ่งปลูกสร้าง 26 รายการ พืชผลอาสิน 2 รายการ
หลังจากปฏิบัติภารกิจทวงคืนผืนป่าแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ทุกนายต่างเหนื่อยล้าไปตามๆ กัน โดยนายฐิติ โสมภีร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ คนใหม่ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้ร่วมกันออกตรวจสอบปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อจับกุมปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ยึดถือ และครอบครอง
รวมทั้งตรวจสอบเอกสารสิทธิในที่ดินตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 สั่ง ณ วันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งที่ 66/2557 สั่ง ณ วันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว ในสภาวการณ์ปัจจุบัน
“รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศทั้ง 7 แห่ง มีการบุกรุกพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และที่ผ่านมา เราได้ร้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญจากกรมอุทยานแห่งชาติ นำแผนที่ปี 2545 มาเปรียบเทียบ ซึ่งผลที่ออกมาปรากฏว่า พื้นที่รีสอร์ต รวมทั้งบ้านพักตากอากาศทั้งหมดที่ตรวจยึด พบว่า บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์จริง เมื่อผลปรากฏออกมาชัดเจน เราจึงต้องเข้าตรวจยึดพื้นที่คืนให้แก่แผ่นดิน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ และคำสั่งของคณะ คสช.จากการคำนวณราคาเบื้องต้นคาดว่า รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศมีมูลค่ารวมกันกว่า 100 ล้านบาท” นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว
ย้อนกลับไปวันที่ 26 ก.ค.57 นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวหลังจากบินสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ทั้ง 4 แห่งว่า พื้นที่บริเวณนี้มีราคาค่อนข้างแพง ตามหลักฮวงจุ้ยของคนจีนก็คือ ด้านหน้าเป็นน้ำ ด้านหลังเป็นภูเขา จึงเหมาะที่จะสร้างรีสอร์ต หรือเป็นแหล่งพักผ่อนของคนที่มีฐานะทางการเงิน
“เศรษฐี หรือคนมีเงินทองทั้งหลายที่คิดจะมาซื้อที่บริเวณนี้ขอให้ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าพื้นที่ที่ท่านต้องการจะซื้อนั้นมีเอกสารถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าพื้นที่ที่ท่านจะซื้อเป็นพื้นที่ตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้”
“ขอความกรุณาพวกเศรษฐี อย่าได้มาซื้อที่บริเวณเหล่านี้เลย เพราะมีที่ดินอีกมากมายที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ท่านสามารถซื้อได้ หากพวกท่านยังต้องการเข้ามาซื้อที่บริเวณนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ไม่รู้จักจบสิ้นเสียที และหากท่านยังฝืนมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หากถูกจับกุม นอกจากจะถูกยึดทรัพย์สิน และพืชอาสินแล้ว ท่านยังจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกทั้งจะถูกฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าดำเนินการรื้อถอนอีก ซึ่งมันไม่คุ้มค่า และจะทำให้ท่านเสียชื่อเสียงอีกด้วย”
สำหรับเป้าหมายต่อไป คือ เขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ตามด้วยเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเป้าหมายที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่ละ 3 ถึง 4 แห่ง หากพร้อมเมื่อไหร่กำลังกว่า 100 นาย พร้อมที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง