ศูนย์ข่าวศรีราชา - เครือสหพัฒน์ ขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มที่ประเทศพม่า และกัมพูชา เพื่อรองรับ AEC คาดใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
นายทนง ศรีจิตร์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนา อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงนี้ ทางบริษัทฯ เตรียมพร้อมรองรับ AEC ในปี 2558 โดยเตรียมขยายการลงทุน ไปประเทศข้างเคียง คือ เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม ปัจจุบันได้เข้าไปลงทุนฐานการผลิตมาม่าที่พม่าเป็นบางส่วนแล้ว และกำลังเล็งไปยังพื้นที่ชายแดนที่อำเภอแม่สอด ซึ่งถือว่ามีความเจริญมาก พร้อมกันนี้ ก็จะข้ามไปลงทุนยังฝั่งที่เมียวดี ส่วนที่ย่างกุ้ง เคยมีแผนแต่ต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากที่ดินมีราคาแพงมาก
สำหรับที่ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่แล้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่น่าลงทุน เช่น ที่บริเวณสีโสภณ เสียมเรียบ และพนมเปญ โดยเครือสหพัฒน์พร้อมเข้าไปลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตอย่างแน่นอน คือ อุตสาหกรรมประเภทด้านตัดเย็บเสื้อผ้า และด้านลอจิสติกส์ ซึ่งทางบริษัทฯ จะเน้นมากเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการลดต้นทุน นอกจากนี้ ยังได้มีการเจรจากับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นในหลายบริษัท เพื่อจะร่วมลงทุนในต่างประเทศ และประเทศข้างเคียง
นายทนง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจเป็นทั้งวิกฤต และโอกาส เนื่องจากมีสงครามที่อิรัก โรคอีโบลา ที่แอฟริกาด้วย ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว แต่เนื่องจากช่วงโลว์ซีซัน เป็นหน้าฝน นักท่องเที่ยวลดลงไปนิดหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ สถานการณ์การท่องเที่ยวคงจะดีขึ้น และความมั่นคงทางการเมืองก็จะดีขึ้น โดยได้ชักชวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่
สำหรับการลงทุนในเมืองไทยนั้น ค่าแรงสูง ดังนั้น การผลิตของเครือสหพัฒน์เน้นด้านอาหาร เพราะสามารถส่งไปจำหน่ายได้ทั่วโลก โดยประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ และมีแบรนด์เนมสินค้าต่างๆ แต่ประเทศไทยมีวัตถุดิบจำนวนมาก เช่น การเกษตร ทางทะเล มีสถานที่ มีโรงงาน ดังนั้น เรื่องอาหารคงเป็นไปได้ดีในการลงทุนร่วมกัน เพราะปัจจุบันประชากรเพิ่มมากขึ้น และเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันเครือสหพัฒน์ฯ ได้นำการผลิตทำขนมปัง และอาหารบางส่วนแล้ว เช่น บะหมี่สำเร็จรูป โดยคาดว่าจะนำอาหารยกระดับเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
สำหรับประเทศญี่ปุ่น ให้ความสนใจในพื้นที่อำเภอศรีราชา โดยจะเป็นโรงงานที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ใช้คนน้อย เพราะอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ให้ความสนใจ เช่น ด้านการแปรรูปอาหารสำเร็จรูป แพกกิ้ง อย่างไรก็ตาม นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ยังมีนักลงทุนชาวยุโรปที่ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนร่วม
นายทนง กล่าวอีกว่า สำหรับในการลงทุนในต่างประเทศนั้น ได้ตั้งเป้าว่าน่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเริ่มที่พม่าไปแล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตได้ภายในปลายปีนี้ คือ ประเภทตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และหลังจากนั้น ก็จะไปที่เขมร และเมืองชายแดนของประเทศไทย เช่น เชียงของ แม่สอด แม่สาย มุกดาหาร ปาดังเบซาร์ เพื่อเพิ่มเป็นฐานการผลิตต่อไป