ราชบุรี - เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ต้านมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ เตรียมยื่น คสช.เข้าใจ “พัฒนา-ความเจริญ” คนละความหมาย เหตุสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1.6 หมื่นไร่ สวนทางจังหวัดนำร่องก้าวไปครัวเออีซี
วันนี้ (29 ส.ค) ที่โรงแรมเวสเทิร์น แกรนด์ อ.เมือง จ.ราชบุรี มีการปัจฉิมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 3) งานบริการด้านวิศวกรรม การสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง นครปฐม-ชะอำ (ตอน 1) ซึ่งมีผู้แทนจากกรมทางหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนในพื้นที่โครงการ 5 อำเภอ 20 ตำบล ประกอบด้วย บางแพ ดำเนินสะดวก เมือง วัดเพลง และปากท่อ เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน
นายอานุภาพ เจริญศักดิ์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นโครงข่ายทางหลวงพิเศษ เริ่มต้นมาจาก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ผ่าน จ.นครปฐม ถึง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไปสิ้นสุดที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มีความสำคัญต่อการเดินทาง และความปลอดภัยของประชาชน
ผลการลงพื้นที่มีประชาชนตอบรับ และคัดค้าน เพราะว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ เชื่อมกรุงเทพฯ จ.นครปฐม อ.ชะอำ และภาคใต้ ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ ผู้ที่รับผลประโยชน์ คือ ผู้ที่ใช้ทาง ทั้งด้านการท่องเที่ยว ขนส่ง แต่การทำโครงการ ซึ่งใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ย่อมต้องมีการเวนคืนที่ดิน เพราะเป็นทางหลวงพิเศษแนวใหม่
ส่วนผู้ได้รับผลกระทบ กรมทางหลวงพยายามรับข้อมูลจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเวนคืน หรืออาจถูกเวนคืน หรือเป็นพื้นที่ใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ สามารถให้ความคิดเห็นได้ จะได้มีข้อมูลกลับไปประมวลว่าตรงไหนดี และไม่ดี จร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และเยียวยาอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงจัดการประชุมมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนำป้ายข้อความคัดค้านข้อความต่อต้านถนน หยุดทำลายพื้นที่การเกษตร พร้อมนำวัวจำลอง ต้นข้าว และข้าวเปลือกใส่หาบมาด้วย โดย น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมชาวบ้านได้ยืนถือป้ายคัดค้านบริเวณทางขึ้นห้องประชุม นอกจากนี้ ยังได้ทำจดหมายเปิดผนึกมีข้อความถึงหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า
“ชาวราชบุรีไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ แต่ถ้าความเจริญมา แล้วทำให้เราดำเนินชีวิตลำบากมากขึ้น จะเรียกว่าความเจริญได้อย่างไร ความเจริญของผู้คิดโครงการทางหลวงสายพิเศษนครปฐม-ชะอำ หมายถึงแสงไฟที่ส่องสว่างตลอด 24 ชั่วโมง เสียงรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูง จำนวนรถที่วิ่งมากมาย ควันจากท่อไอเสีย แต่ความเจริญของคนราชบุรี คือ พื้นที่สีเขียว ความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม ดังแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ปี 2557-2560 เพราะราชบุรีเป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องของประเทศที่จะก้าวไปสู่ครัว AEC
เพราะลักษณะภูมิประเทศของราชบุรี เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ราบลุ่มต่ำ สูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เพาะปลูกข้าว พืชไร่ สวนผลไม้ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านชลประทาน เพราะมีแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำแคว อ้อมไหลผ่าน แต่กรมทางหลวงจัดทำโครงการทางหลวงพิเศษนี้ ทำให้สูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นถนนจำนวนมาก คือ พื้นที่โครงการตอนที่ 1 สูญเสียพื้นที่ 5,890.2 ไร่ ตอน 2 สูญเสียพื้นที่ 3,286.25 ไร่ ต้องเวนคืนที่ดินการเกษตรทั้งหมด 10,583 ไร่ เวนคืนสิ่งปลูกสร้าง 614 หลัง ซึ่งทางกลุ่มผู้คัดค้านได้เตรียมยื่นต่อ คสช.ด้วย”