xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.เวิร์กชอปใหญ่แผนรับเหตุฉุกเฉิน ชี้เหตุตึกถล่มปทุมธานีเป็นบทเรียนสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ปภ.ระดมเจ้าหน้าที่จังหวัด ส่วนกลางร่วมเวิร์กชอปแผนรับมือเหตุฉุกเฉินปี 58 ยกกรณีตึกถล่มปทุมธานีเป็นกรณีศึกษา หลังหลายหน่วยรุมช่วยจนโกลาหล

วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมโพธิ์วดล รีสอร์ท แอนด์ สปา รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาศักยภาพการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับกลุ่มจังหวัด จังหวัด และหน่วยงานส่วนกลาง ครั้งที่ 1 พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้บริหารจากทั้ง 2 ภาคเข้าร่วม

ทั้งนี้ เพื่อให้ตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมร่วมกันร่างแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2558 โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ตึกถล่มที่ จ.ปทุมธานี จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเมื่อเร็วๆ นี้เป็นกรณีศึกษาสำคัญ

นายอนุสรณ์กล่าวว่า เหตุตึกถล่มที่ปทุมธานีเกิดความโกลาหลของการเข้าไประงับเหตุของหน่วยงานต่างๆ จนส่งผลต่อการช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุ เพราะไม่ได้มีแผนปฏิบัติการร่วมกัน ปภ.ซึ่งมีความชำนาญถูกกันออกนอกพื้นที่ประสบภัย เครื่องจักรบางหน่วยงานเจาะพื้น ซึ่งอาจกระทบผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ไม่มีการบัญชาการสถานการณ์ ทำให้ทั้งเครื่องจักรและเจ้าหน้าที่ล้นงานในช่วงท้าย ต้องใช้เวลาทำงานถึง 79 ชั่วโมงจึงยุติ

“ปัจจุบันพบปัญหาใน ปภ. คือเจ้าหน้าที่ยังขาดประสบการณ์ ไม่ได้ฝึกฝนร่วมกัน จึงไม่ทราบความรับผิดชอบร่วมในสถานการณ์นั้น ขาดประสิทธิภาพด้านการสื่อสาร และไม่มีระบบการสื่อสารที่ใช้ร่วมกัน ขาดความสามารถในการเพิ่ม หรือลดขนาดของการตอบโต้สถานการณ์ ดังตัวอย่างที่ จ.ปทุมธานี ไม่มีคำศัพท์ที่เป็นมาตรฐานกลาง เมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละหน่วยงานก็ใช้ศัพท์ไปต่างๆ นานา ขาดผู้สั่งการที่ชัดเจน ต่างคนต่างทำ จึงขาดเอกภาพ”

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ตัวอย่างที่ จ.ปทุมธานี คือผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าประชุมหน่วยงานโดยไม่มีข้อมูลมากนัก จากนั้นแต่ละหน่วยงานก็พากันเข้าระงับเหตุ จนเกิดความวุ่นวาย ขาดการวางแผนที่เป็นระบบ ขาดแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน ขาดความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ขาดการบริหารจัดการ ทำให้บางครั้งสิ้นเปลืองหรือสูญเปล่า เช่น มีรถและคนล้นงาน โดยไม่รู้จะให้เข้าระงับเหตุอย่างไร

ดังนั้น แผนปี 2558 จะให้มีการฝึกซ้อมใหญ่ภาคสนามระหว่างกลุ่มจังหวัด จังหวัด และหน่วยงานส่วนกลาง โดยอาศัยการระดมสมองจากการประชุมครั้งนี้ และเมื่อมีแผนปี 2558 ออกมาแล้ว แต่ละกลุ่มจังหวัด และจังหวัดจะรับไปดำเนินการ แผนใหม่นี้จะไม่ให้มีการทำสำเนาแผนใหญ่ แล้วนำไปปรับเปลี่ยนกันเฉพาะรายละเอียดของพื้นที่ แต่ละพื้นที่ต้องมีแผนรองรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ของตัวเอง เช่น แผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ แผนของ ปภ.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็จะเป็นแผนแบบไทยๆ เพราะหลายคนนำตัวอย่างเหตุการณ์ในต่างประเทศมาเปรียบเทียบ ซึ่งไม่เหมาะกับประเทศไทย

“ที่ผ่านมา ปภ.ถูกจัดให้อยู่ในคณะกรรมการบริหารจัดงานน้ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เมื่อคณะกรรมการน้ำถูกลดบทบาทลง หรืออาจจะยกเลิก ก็จะทำให้ ปภ.สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่”


กำลังโหลดความคิดเห็น